หลายอุตสาหกรรมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการแข่งขัน ทั้งเพื่อการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน ทั้งเพื่อการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ ทั้งการควบรวมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับผู้นำตลาดไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมโรงพยาบาล พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ล้วนต้องปรับตัวรับการมาของดิจิทัลเทคโนโลยี ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 องค์กรธุรกิจต่างเร่งปรับตัวเพื่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว แน่นอนว่ามีทั้งองค์กรที่ปรับตัวทันและองค์กรที่ปรับตัวไม่ทัน จนถูกดิจิทัลดิสรัป
ในขณะที่การพยุงตัวเพื่อฟันฝ่าวิกฤตที่ยากลำบากนี้องค์กรธุรกิจในหลายๆวงการต้องมองหาความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในหลายรูปแบบ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นในการดำเนินธุรกิจทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแวดวงธุรกิจการเงิน เฮลท์แคร์ พลังงานโทรคมนาคม หรืออื่นๆต่างก็อยู่ในห้วงเวลาที่ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในโลกยุคดิจิทัลเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแลในแต่ละอุตสาหกรรมก็ควรมองสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปให้ครบรอบด้านเช่น อุตสาหกรรมพลังงานก็มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ก็มี กสทช. กำกับดูแลการแข่งขันอยู่แล้ว ดังนั้น การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันผ่านการส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจจึงมีความสำคัญเพื่อให้สนับสนุนเกิดการพัฒนาของภาคธุรกิจและมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ในธุรกิจโรงพยาบาล มีการปรับตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างเช่น เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งบริหารงานโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีการปรับโครงสร้างด้วยการควบรวมโรงพยาบาล อาทิ รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.พญาไท รพ.เปาโล และอื่นๆ โดยวิสัยทัศน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ให้บริการระดับโลกต่างประเทศ ที่เป็นการมองภาพใหญ่ของการแข่งขัน รับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติและแรงกดดันด้านเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ โรคระบาดโควิด-19 และสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งรัฐและเอกชนต้องส่งเสริมการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ รักษาการผู้ช่วยประธานฝ่ายปฏิบัติการ ด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลและนวัตกรรม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมเสวนาในหัวข้อ “Innovative Organization Perspectives in Changing World” หรือมุมมององค์กรนวัตกรรมในโลกที่เปลี่ยนไป หนึ่งในกิจกรรมงานแถลงข่าวการจัดงาน “สตาร์ทอัพและอินโนเวชันไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2022” (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 : SITE 2022) เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด 19 บริการต่าง ๆ มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น ทำให้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และช่วยให้การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เกิดขึ้นได้จริงลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้คน ซึ่งเป็นโรดแมปที่ทางเรากำหนดไว้อยู่แล้ว
ดร.พัชรินทร์กล่าวว่า วันนี้ดิจิทัลทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นเรื่องง่าย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี แต่ส่วนสำคัญที่อาจทำให้เป็นปัญหาและเป็นข้อควรระวัง คือการให้บริการในรูปแบบดิจิทัล เป็นลักษณะของการดูแลสุขภาพ มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะข้อกำหนดของกฎหมายจะต้องถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะสามารถให้บริการได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และดูแลผู้รับบริการของเราได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ของธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ
“อยากให้กฎหมายดูแลให้สอดคล้องกับสภาวะของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันเรื่องดิจิทัลดิสรัปชันเกิดกับทุกอุตสาหกรรม ในมุมของการดูแลรักษาพยาบาล เราเข้าใจความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ดูแลเรื่องกฎหมาย เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาหรือความไม่ปลอดภัยแต่ในความกังวลนั้นควรไปพร้อมๆกับการดูแลให้ข้อกำหนดกฎหมายนั้นสนับสนุนการบริการลักษณะนี้ในกลุ่มของคนไข้ที่ถูกคัดกรองความปลอดภัยอย่างเหมาะสมแล้ว อยากให้มองในมุมของความสะดวก การเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ดีกว่าที่จะจำกัดสิ่งนี้ตั้งแต่ต้น เพื่อวัตถุประสงค์ในแง่ของการระมัดระวังความปลอดภัยอย่างเดียว ในขณะที่คนไข้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ อันนั้นก็เป็นปัญหาที่สำคัญมากอยู่แล้วเหมือนกัน แม้ว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ ณ เวลานี้ แต่ทุกๆเรื่องก็เกิดขึ้นอยู่ดี ดังนั้นในวันนี้เราควรจะเปิดโอกาสให้ทำเรื่องนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือเปล่า ในมุมมองของผู้กำกับดูแลเรื่องพวกนี้”
ดร.พัชรินทร์ มองว่า ในฝั่งสุขภาพทางการแพทย์เข้าสู่กระบวนการช้ากว่าคนอื่นเนื่องด้วยข้อกำหนดกฎหมายหลายประการ วันนี้เรายังไม่เปิดให้เกิดความชัดเจนในแง่เราทำมันได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยอย่างไร ก็จะเป็นปัญหาที่โอกาสในด้านการแข่งขันของเราเป็นประเด็นที่ด้อยกว่าคนอื่นในประเทศอื่นๆที่เราเทียบเคียงกัน ซึ่งตรงนี้เป็นข้อจำกัดของการเติบโตของสตาร์ทอัพจำนวนมาก
ในด้านธุรกิจของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพที่มีการขยายขนาดอย่างรวดเร็วผ่านการควบรวมกิจการและการเปิดกิจการในเครือ ทำให้ปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศนั้น ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีทำให้ดูแลคนไข้ได้หลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่คนไข้ในระดับประกันสังคมไปจนถึงกลุ่มคนไข้ระดับสูง ตั้งแต่โรคพื้นฐานไปจนถึงโรคที่มีความซับซ้อนรุนแรง ในกลุ่มโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งให้บริการต่างชาติ ความเชี่ยวชาญ และความแข็งแกร่งที่มีความแตกต่างกัน เราสามารถให้บริการครอบคลุมได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าต้องการรักษาในราคาแบบไหน โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการน้อยราย แต่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีการกำกับดูแลด้านพลังงานอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานเองก็ชี้ชัดว่าต้องปรับตัว เช่น บางจากก็ชี้ชัดว่าต้องปรับตัว ไม่ใช่เป็นอุตสาหกรรมพลังงานอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนเป็นให้บริการพลังงานสะอาด และเน้นย้ำว่า ยุคนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกเสมอ ทั้งจากบริการตรงและบริการทดแทน ดังนั้น องค์กรต้องปรับตัวให้ทัน
ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ ผู้จัดการสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์หลังจบงานเสวนาเดียวกันว่าดิจิทัลดิสรัปชัน ส่งผล 2 ส่วนกับบางจาก 1.ด้านการจัดการองค์กรทำให้พนักงานทำงานเชื่อมต่อกันได้ทุกที่ และ 2.มีการพัฒนาการทำงานแบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเชื่อมโยงการใช้งานผ่านดิจิทัลโซลูชัน เช่น เติมน้ำมันโดยไม่ต้องใช้เงินสด และแลกแต้มได้ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเชื่อมโยงให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นและส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆที่แตกต่าง รองรับเทรนด์ใหม่ที่จะสอดรับกับกระบวนการของธุรกิจมากขึ้น
“การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะเลือกบริการและสินค้าตามความสนใจ บางจากเองมุ่งเน้นเรื่องของพลังงานทางเลือก และยังมีจุดบริการชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนบริการอื่นๆที่นอกเหนือจากการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน เพื่อสอดรับกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”
ดร.ก่อศักดิ์ มองว่าธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจพื้นฐานรัฐมากำกับดูแลเป็นสิ่งที่ดี และเรื่องภาวะความเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่รัฐเข้ามาร่วมดูแล เพราะกลุ่มลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น รัฐเองก็เข้ามาดูมาตรการส่งเสริมที่ต่อยอดกับความต้องการเหล่านั้น เช่น ธุรกิจรถไฟฟ้า ไม่ได้มีแค่เรื่องตัวรถ แต่มีเรื่องของซัพพลายเชน ตัวโครงสร้างแบตเตอรี่ และขนส่งต่าง ๆ ถ้ารัฐเข้ามาช่วยดูมาพัฒนาส่งเสริมร่วมกันก็จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยการกำกับดูแลเป็นเรื่องของการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการพัฒนาตัวเอง เพราะเรื่องของพลังงานในบางครั้งในส่วนของน้ำมันเราไม่ได้เป็นผู้ควบคุม มองว่าเราน่าจะมาส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่เรามีวัตถุดิบเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจพลังงานทางเลือกเติบโตไปได้
ดร.ก่อศักดิ์ กล่าวถึงการขยายธุรกิจว่า เรามองหาพาร์ทเนอร์หรือนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนโลกในเรื่องของการทำให้โลกมีความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ตอนนี้มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ มองหาพาร์ทเนอร์ที่จะสามารถเข้ามาเติมเต็มการผลิตแบตเตอรี่ที่ผลิตโดยประเทศไทย รวมไปถึงเรื่องของSupply Chainยังมีส่วนของธุรกิจไหนบ้างที่ยังปล่อยคาร์บอนสูง เราก็พยายามที่จะหาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปลดปล่อยหรือไม่ให้เกิดเลย ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีบางตัวประเทศไทยไม่ได้มีKnow-how แต่ในเงื่อนไขของกลุ่มบางจาก หากมีการ M&A หรือ Joint Venture หรือ การลงทุน เราต้องสามารถเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการ รวมถึงการโอนถ่าย (transfer) เทคโนโลยีกลับเข้ามาในประเทศไทย พัฒนาให้เป็นเศรษฐกิจโดยคนไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่นำเทคโนโลยีเข้ามาอย่างเดียวแล้วผูกขาดโดยต่างประเทศส่วนในประเทศก็มีการร่วมมือกับอาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการที่มีมุมมองในเชิงความรู้ แต่ในเชิงธุรกิจอาจจะยังขาดอยู่ ซึ่งก็จะเป็นการเติมเต็มกัน
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ดิจิทัลดิสรัปมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ในยุคที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการตัดสินใจและมีทางเลือกมากมาย การสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการให้สามารถตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าและมอบประสบการณ์ที่แตกต่าง จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ และที่สำคัญ ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงบริบทในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป จึงจะทำให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน