รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1918

ภาพจาก Shutterstock

รัสเซียได้ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1918 หลังจากที่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียมูลค่าราวๆ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยพันธบัตรชุดดังกล่าวมีกำหนดที่รัฐบาลรัสเซียจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในวันที่ 27 พฤษภาคม และเส้นตายสุดท้ายที่จะต้องจ่ายก็คือในวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับเหตุการณ์ที่รัสเซียผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศครั้งสุดท้ายคือในปี 1918 ระหว่างการปฏิวัติบอลเชวิคเมื่อวลาดิมีร์ เลนิน ผู้นำคอมมิวนิสต์คนใหม่ปฏิเสธที่จะชำระหนี้ของจักรวรรดิรัสเซีย

แม้ว่าจะโดนกลุ่มประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียในหลากหลายรูปแบบก็ตาม จากผลของการประกาศบุกประเทศยูเครน แต่รัฐบาลรัสเซียยืนยันว่าจะยังจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ที่เป็นนักลงทุนตามปกติ

รัฐบาลรัสเซียได้กล่าวว่าได้ส่งเงินสำหรับชำระดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ไปแล้ว แต่เงินนั้นไปติดอยู่ที่ Euroclear ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีหน้าที่แจกจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้นให้กับนักลงทุน อย่างไรก็ดีทาง Euroclear ไม่ได้กล่าวถึงว่าการชำระเงินของรัสเซียถูกปิดกั้นหรือไม่ แต่ได้กล่าวถึงในประเด็นที่ว่าขั้นตอนนั้นเป็นไปตามมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด

ขณะที่ Anton Siluanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมากล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องตลก เนื่องจากรัสเซียพร้อมที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน แต่โดนขัดขวางในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้เขายังยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่สามารถรับดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ จากปัญหาการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น

การแก้เกมของฝั่งรัสเซียหลังจากนี้คือ รัฐบาลได้ออกมาตรการระบุว่าการชำระหนี้ในอนาคตทั้งหมดจะดำเนินการในสกุลเงินรูเบิลผ่านธนาคารรัสเซีย National Settlements Depository แม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียจะระบุสกุลเงินเป็นดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ ก็ตาม

ปัจจุบันหนี้ของรัสเซีย 50% มีเจ้าหนี้เป็นนักลงทุนชาวต่างชาติ และในเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซียกล่าวว่าจะหลังจากนี้รัสเซียไม่มีความจำเป็นในการออกพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศแต่อย่างใด

ที่มา – BBC, Bloomberg