เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคี ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างสำนักงาน กสทช. และหน่วยงาน Agence Nationale de Réglementation des Télécommunications (ANRT) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมของราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยโมร็อกโกมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในกิจการโทรคมนาคมของภูมิภาคแอฟริกาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศ
การประชุมทวิภาคีในครั้งนี้ ถือเป็นการริเริ่มความร่วมมือและเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองหน่วยงาน โดยมี ศาสตราจารย์ คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และ Eng. Az-El-Arabe HASSIBI เลขาธิการหน่วยงาน ANRT ราชอาณาจักรโมร็อกโก ให้เกียรติกล่าวขอบคุณ และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนราชอาณาจักรโมร็อกโก จากนั้น นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการประชุมและหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม
สาระสำคัญของการประชุมทวิภาคีในครั้งนี้ คือ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของทั้งสองหน่วยงาน สำนักงาน กสทช. โดยนายนทชาติ จินตกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. ร่วมกับ Ms. Imane EL KALKHA, Senior Lawyer, Acting of International Affairs หน่วยงาน ANRT นอกจากนี้ ยังมีสำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยและ Universal Service Division ของหน่วยงาน ANRT ได้ให้ข้อมูลการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม (Universal Service) ของโมร็อกโก ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ในการจัดทำนโยบายด้านโทรคมนาคม
การประชุมฯ ครั้งนี้ ยังได้มีการหารือเรื่องกรอบความร่วมมือ MOU ฉบับแรกระหว่างสองหน่วยงาน โดยมีแนวคิดที่จะร่วมมือกันพัฒนาแลกเปลี่ยนแนวทางกำกับดูแลให้ครอบคลุมเทคโนโลยีใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนและสามารถต่อยอดแนวทางในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการบริหารคลื่นความถี่ในอนาคต
สำนักงาน กสทช. มุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการสนับสนุนแนวทางการกำกับดูแลนวัตกรรมใหม่ในกิจการที่เกี่ยวข้อง รองรับการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนของทั้งสองประเทศต่อไป