นักวิเคราะห์คาดว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ในกรณีที่แย่ที่สุดอาจทำให้ธนาคารนั้นสูญเสียเงินมากถึง 2.4 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 12.8 ล้านล้านบาท และอาจทำให้เกิดวิกฤตการเงินในประเทศจีน ซึ่งอาจกระทบกับเศรษฐกิจในภายหลังได้
สำนักข่าว Bloomberg รายงานวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนได้ทำให้ประชาชนกว่าหลายแสนคนงดที่จะจ่ายค่าบ้านตามเมืองต่างๆ มากกว่า 90 เมือง ส่งผลให้ธนาคารที่เปรียบเหมือนคนกลางนั้นอาจพบกับวิกฤตอย่างหนักหน่วง
ปัญหาของวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ระลอกใหม่ของจีนนั้น ปัญหาการล็อกดาวน์ตามเมืองต่างๆ ของประเทศจีน เพื่อที่จะทำให้การระบาดของโควิด-19 ลดลงตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทำให้เศรษฐกิจจีนเองชะลอตัวลง ส่งผลไปยังประชาชนที่ต้องผ่อนบ้านหรือที่อยู่อาศัยได้รับปัญหาทันที
นอกจากนี้การเข้ามาปราบปรามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีนเองส่งผลทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนลดลง ยิ่งทำให้แรงจูงใจที่ประชาชนจะผ่อนอสังหาริมทรัพย์ลดน้อยลงไปอีก โดยราคาบ้านนับตั้งแต่ต้นปี 2022 ในประเทศจีนใน 48 จาก 70 เมืองใหญ่ได้ลดลงอย่างมาก
วิกฤตดังกล่าวเปรียบเหมือนกับงูกินหาง โดยจุดเริ่มต้นของวิกฤตคือโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการนั้นไม่แล้วเสร็จจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ประชาชนหลายคนต้องเข้าอยู่อาศัยและยังต้องผ่อนบ้านต่อไป ขณะเดียวกันธนาคารก็ไม่อยากปล่อยเงินให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะเอาสินทรัพย์ก็คือโครงการต่างๆ มาจำนองแล้วก็ตาม
ผลที่เกิดขึ้นคือธนาคารไม่ส่งเงินที่ได้จากประชาชนที่กำลังผ่อนบ้าน ให้กับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างก็อาจไม่แล้วเสร็จ ทำให้คนหมดศรัทธาที่จะผ่อนอสังหาริมทรัพย์ และทำให้ธนาคารพบวิกฤตทันที
นักวิเคราะห์จาก S&P Global Ratings มองว่าสินเชื่อจำนวน 2.4 ล้านล้านหยวนอยู่ในความเสี่ยงในวิกฤตดังกล่าว ซึ่งคิดเป็น 6.4% ของจำนวนสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในประเทศจีน ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank สถาบันการเงินจากเยอรมันมองว่าสินเชื่อออสังหาริมทรัพย์ในจีนราวๆ 7% กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
ข้อมูลจากธนาคารกลางจีน (PBoC) ยังชี้ว่ายอดสินเชื่อออสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2022 นี้ยอดดังกล่าวอยู่ที่ราวๆ 39 ล้านล้านหยวน และหลายธนาคารในประเทศจีนนั้นมีสัดส่วนสินเชื่อออสังหาริมทรัพย์มากกว่า 1 ใน 3 ไม่ว่าจะเป็น Postal Savings Bank of China หรือ China Construction Bank ซึ่งธนาคารเหล่านี้ล้วนเป็นธนาคารใหญ่ และมีความสำคัญต่อระบบการเงินของจีนอย่างมาก
โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้นคิดเป็นสัดส่วนของ GDP จีนมากกว่า 25% และนั่นจะทำให้รัฐบาลจีนอาจต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตดังกล่าวลุกลามเข้าไปยังภาคการเงิน ซึ่งอาจส่งผลทำให้วิกฤตลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ทัน
ที่มา – Bloomberg