กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม แมนซั่ม วิตามิน วอเตอร์ ไฮ่! เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์ จัดงานเสวนาเพื่อความยั่งยืนครั้งแรก ในหัวข้อ “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน” เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และหารือถึงแนวทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน ระหว่างพันธมิตรธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเป้าหมายด้านเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรน้ำ สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานด้วยเรื่อง “ปรับมุมมองอนาคตประเทศไทยใหม่ ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว” โดยเน้นย้ำว่ารัฐบาลได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) สร้าง new S-Curve ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว และยังให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ซึ่งไม่อาจบรรลุได้ด้วยการดำเนินงานของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคประชาชน จะต้องเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของสังคมไทย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนปรับทิศทางไปสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยยึดหลักว่าเราจะพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของโลก ซึ่งกระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในห้วข้อ “ความยั่งยืน : กุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและการสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่” ว่า วิกฤตโควิด 19 ส่งผลกระทบซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน อีกทั้งเทรนด์โลกกำลังมุ่งหน้าสู่การสร้างมาตรฐานสากลของความยั่งยืน ส่วนตัวจึงมองว่าการฟื้นฟูและการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่นั้นต้องใช้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการดึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมูลค่าเพิ่มและการตรวจสอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้เล่น สำคัญที่สุด ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในมิติของกฎกติกาเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ขึ้นเวทีกล่าวถึงหัวข้อ “ก้าวข้ามความท้าทาย สู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ยั่งยืน” ว่า การเกิดขึ้นของเวทีเสวนาในวันนี้เป็นความตั้งใจที่จะปลุกพลังความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามความท้าทายและขับเคลื่อนความยั่งยืนในประเด็นสำคัญเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ผ่านความร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ และต้องมีการปรับตัวและตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงได้ เปลี่ยนความ “เป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้” ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นแนวคิดสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ต้องการ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” สำหรับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ กล่าวถึงหัวข้อในการเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมเทคโนโลยีในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ว่า ขณะที่ประเทศไทยยังคงเผชิญวิกฤตน้ำในทุกๆ ปี ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปีจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาน้ำให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และชุมชน ที่มีศักยภาพ ที่จะบูรณาการองค์ความรู้และขยายผลนวัตกรรมการจัดการน้ำชุมชน (Rural Engineering) ร่วมกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ปัญหาน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นายยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวในหัวข้อ “rPET นวัตกรรมเปลี่ยนโลก สร้างโอกาสใหม่ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ว่า “เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง กระบวนการ และที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของพนักงานในทุกระดับ การผนวกความยั่งยืนลงไปในทุกส่วนของการดำเนินธุรกิจคือหัวใจหลักที่ทีมงานของเราให้ความสำคัญและใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ไอวีแอลเป็นองค์กรที่พร้อมสำหรับอนาคต เรายังต่อยอดความเป็นผู้นำที่มีผลงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมการรีไซเคิล และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิด ในการลงทุนกับคนและโลกใบนี้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หนึ่งในข้อพิสูจน์คือเราได้กำหนดเป้าหมายความยั่งยืนที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นไปตามข้อกำหนดของ SBTi (Science Based Targets initiative) ทั้งยังเป็นสมาชิกในกลุ่มที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (SBTi Expert Advisory Group) สำหรับกลุ่มบริษัทเคมีภัณฑ์ และเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น เราเดินหน้าโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายด้าน เช่น พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วัตถุดิบเชิงชีวภาพ การรีไซเคิลเชิงเคมี และอื่นๆ อีกมากมาย”
นอกจากนี้ ภายในงานยังเปิดเวทีระดมความคิดในหัวข้อ “สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน” โดยมีนายขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP นายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ดร.บุตรา บุญเลี้ยง Head of Climate Resilience Office and Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และคุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนอีกด้วย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ที่ www.tcp.com