บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT (“บริษัทฯ”) เตรียมเปิดขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ ในวันที่ 1 – 2 และ 5 – 6 กันยายนนี้ แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป รวมถึงผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิมที่จะได้รับการไถ่ถอนก่อนกำหนดสามารถนำเงินที่ได้รับคืน มาจองซื้อได้หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ผ่าน 10 สถาบันการเงินและแอปฯ Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพ จ่ายดอกเบี้ย 5 ปีแรก 6.10% ต่อปี ชูอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ที่ระดับ “A” แนวโน้ม “Stable” และอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ที่ระดับ “BBB+” จากทริสเรทติ้ง
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 – 2 และ 5 – 6 กันยายน 2565 บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ครั้งที่ 1/2565 (“หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ”) จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 13,000 ล้านบาท แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม (MINT18PA) ที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนดในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิมจะได้รับชำระคืนเงินต้นในวันที่ไถ่ถอนและสามารถนำเงินดังกล่าวมาลงทุนอย่างต่อเนื่องในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ของบริษัทฯ
หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ กำหนดอัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกที่ 6.10% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 5 ปี อ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี โดยบริษัทฯ ได้รับการยืนยันอันดับ
ความน่าเชื่อถือที่ “A” แนวโน้ม “Stable” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “BBB+” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก บริษัทฯ ยังคงสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงศักยภาพธุรกิจและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
สำหรับผู้สนใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ สามารถจองซื้อกับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขาย) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้เพื่อเพิ่มโอกาสและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนรายย่อยในการเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ของ MINT ครั้งนี้ ได้เพิ่มช่องทางการจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ผ่านแอปพลิเคชัน Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ให้ผู้สนใจลงทุนจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายกลับมาทำกำไรภายในปีนี้ หลังจากทั่วโลกคลายความกังวลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีการเปิดประเทศ ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางและมาตรการล็อกดาวน์ ตลอดจนทยอยประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น ส่งผลให้ภาพรวมการท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับจากปีที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของ MINT ทั้ง 3 กลุ่มคือ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ ที่มีผลการดำเนินปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 32,181 ล้านบาท เติบโต 106% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีและค่าเสื่อม) 9,059 ล้านบาท เติบโต 192% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจโรงแรมที่เป็นสัดส่วนรายได้หลักฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สำหรับโรงแรมในยุโรป มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 68% ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 130 ยูโรต่อคืน เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ที่ 89 ยูโร สูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโรค COVID-19 เป็นต้น ส่วนธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยทยอยฟื้นตัวหลังจากเปิดประเทศ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย และยุโรป เป็นต้น โดยไตรมาส 2/2565 ธุรกิจโรงแรมในไทย มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 43% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) 2,213 บาท เพิ่มขึ้น 300% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร มีกำไรติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 จากการปรับตัวมุ่งพัฒนาเมนูอาหารใหม่ นำเสนอโปรโมชั่นที่สามารถกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ สร้างประสบการณ์ที่ดีและแตกต่างแก่ผู้บริโภค โดยร้านอาหารแต่ละทำเลอาจมีรูปแบบและคอนเซปต์ที่แตกต่างกัน นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการรับออเดอร์และชำระเงิน การทำสัญญาสั่งซื้อวัตถุดิบในระยะกลางและระยะยาวโดยใช้จุดแข็งด้านปริมาณการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ปรับราคาอาหารบางเมนูที่จะไม่กระทบต่อผู้บริโภค รวมถึงมุ่งสร้างแบรนด์ให้เป็น Top of Mind ที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับแรก โดยร้านอาหารในประเทศไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale) ในไตรมาส 2/2565 ที่เพิ่มขึ้น 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนร้านอาหารในประเทศจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ภายหลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ธุรกิจไลฟ์สไตล์มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เน้นสาขาที่มีกำไร รวมถึง
ใช้กลยุทธ์ Omni-Channel ผสมผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์เลือกซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อ
ทั้งนี้ ผู้สนใจจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากร่างหนังสือชี้ชวน หรือสถาบันการเงินทั้ง 10 แห่ง ได้แก่
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) โทร. 1333
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1111
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-888-8888 กด 819
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โทร. 02-777-6784
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โทร. 1572
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-626-7777
บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โทร. 02-165-5555
(ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน))
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โทร. 02-658-5050
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด โทร. 02-680-4004 และ
บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) โทร. 02-779-9000