บ้านปู – ChangeFusion สานต่อภารกิจสร้างชุมชนเข้มแข็งจากพลังคนรุ่นใหม่หัวใจรักท้องถิ่น สู่กิจการเพื่อสังคมในโครงการ BC4C รุ่นที่ 11

สังคมและประเทศในภาพกว้างจะพัฒนารุดหน้าไปได้ ย่อมต้องเริ่มต้นมาจากความเข้มแข็งของชุมชน เป็นชุมชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง มีรายได้ที่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้ เสริมเป็นต้นทุนทางสังคมให้แข็งแรง และนำไปสู่ความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว 

การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนนั้นเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของรัฐบาลภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน เพิ่มศักยภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ช่วยให้พวกเขามีความพร้อมในการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน 

ในปัจจุบันภาคส่วนต่างๆ ได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาชุมชนเป็นอันมาก หนึ่งในขุมพลังที่สำคัญก็คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นนั้นๆ ที่หันมาให้ความสนใจและมีแนวคิดอยากเห็นชุมชนบ้านเกิดของตนเองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เป็นคนรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนท้องถิ่น พร้อมนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของตนเองกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิด เพื่อทำให้ชุมชนของตนเองมีความเข้มแข็ง เหมือนกับ กิจการเพื่อสังคมจาก “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C” รุ่นที่ 11 ในปีนี้ 

แจงบุษบง งีสันเทียะ และเกรทภานุพงศ์ ตันติรัตน์ ตัวแทนจากทีม Green Diamond Phetchabun กิจการที่ช่วยเชื่อมโยงตลาดและพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตรด้วยกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับอาชีพของเกษตรกรให้มีความมั่นคง สร้างรายได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน เผยว่า “จุดเริ่มต้นของกิจการของพวกเรา จริง ๆ แล้วมาจากการที่ต้องกลับบ้านมาดูแลคุณยายที่กำลังป่วย จึงเป็นโอกาสให้เราได้กลับมาสานต่อกิจการที่บ้านและนำความรู้ที่ได้เรียนมาเพื่อนำมาพัฒนาชุมชน 

เราเห็นปัญหาของเกษตรกร เราได้ยินมาตลอดกับคำว่า “ทำงานวันนี้เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้” เราจึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง เราจึงเริ่มที่บ้านของเราที่เพชรบูรณ์ก่อน เพราะที่นี่เป็นจังหวัดที่มีการผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นอาหารจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังทำงานหนักอยู่และไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล เราพบว่าปัญหาหลักของเกษตกรในพื้นที่ก็คือเรื่องการตลาด” 

คุณแจงจบการศึกษาจากสาขานวัตกรรมการจัดการการเกษตร ส่วนคุณเกรทจบวิศวกรรมไฟฟ้า ทั้งสองคนเลือกเอาความรู้ที่มีมาผนวกรวมกัน พร้อมกับใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อทำให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น “เดิมทีชุมชนผลิตตามศักยภาพที่ตนเองทำได้ แต่ไม่ได้ประเมินตลาด จึงอาจทำให้เกิดการขาดทุน เราจึงเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน ได้ราคาที่ดีขึ้น และทำให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์รายได้ วางแผนการเงินและมีความมั่นคงทางรายได้มากขึ้น

การเข้าร่วมโครงการ BC4C ช่วยให้เรานำความรู้เรื่องโมเดลธุรกิจไปปรับใช้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และทำให้เรามองเห็นภาพใหญ่ว่า กิจการเพื่อสังคมเป็นรูปแบบธุรกิจที่ทำให้เราสามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เราเชื่อมั่นว่า ทุกธุรกิจสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคมแบบที่เราทำได้เช่นกัน” คุณแจงเสริม 

อีกกิจการหนึ่งที่เกิดจากการรวมเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็งก็คือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้จังหวัดแม่ฮ่องสอน กิจการที่ผนึกกำลังเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกว่า 25 ชุมชน เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการเชิงท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 

ดอยพรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ จากวิสาหกิจชุมชนจุดผ่อนปรนชายแดนบ้านห้วยผึ้ง และดี้ธัญญาลักษณ์ พัฒนาผาเจริญ จากวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้บ้านทบศอกเล่าว่า “เราเริ่มจากการออกไปทำงานที่อื่นแล้วรู้สึกโหยหาอยากกลับบ้าน แต่พอจะกลับมา หากไม่มีอาชีพก็คงจะไม่ได้ เราจึงเริ่มทำสิ่งนี้ขึ้นมาด้วยความต้องการที่จะสร้างอาชีพให้ตนเองและอยากทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วย ซึ่งพอเริ่มทำ เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง คือคนทุกวัยได้มารวมตัวกัน มีปฏิสัมพันธ์และมีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ทุกคนได้มาช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนา กลายเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น และเมื่อคนในชุมชนมีอาชีพและมีรายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องละถิ่นที่อยู่ไปทำงานในเมือง ชุมชนก็สามารถพึ่งพาตนเองได้ เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น และทุกคนก็มีความสุขมากขึ้น ซึ่งนี่น่าจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในงานของเรา”

เพียงแค่แนวคิดที่อยากลงมือทำอาจจะไม่เพียงพอและไปไม่ถึงเป้าหมาย สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงเสริมสำคัญคือการมีผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาช่วยเติมเต็ม ปัจจุบันทั้ง กิจการ และเพื่อนๆ กิจการเพื่อสังคมรวมทั้งหมด 7 กิจการกำลังอยู่ในกระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ผ่านโครงการ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C” รุ่นที่ 11 โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บุกเบิกและบ่มเพาะเหล่ากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องมากกว่าทศวรรษและยังคงเดินหน้าผนึกเครือข่าย ขยายพลัง SE ในไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น 

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส  สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนควรทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และต้องสานต่อภารกิจได้ด้วยชุมชนนั้นๆ เอง ดังนั้นความยั่งยืนถือเป็นหัวใจสำคัญ บ้านปูก็ขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และจากโครงการ BC4C บ้านปูมีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมทั้งสองกิจการ ให้สามารถพัฒนาและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตพร้อมกับการกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตนเอง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นพลังในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม”

การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืนตามกรอบ SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบ้านปูภายใต้หลัก ESG ที่เรายึดถือมาโดยตลอด เพราะสังคมและประเทศจะไม่สามารถพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ไกล หากไม่เริ่มต้นจากความเข้มแข็งของผู้คน ครัวเรือน และชุมชนแต่ละชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยในสังคม” คุณรัฐพลกล่าวเสริม 

กิจการของพวกเขาเหล่านี้จะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังหรือไม่ แต่อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ กล้าที่จะคิด และ ลงมือทำ จนเกิดเป็นกิจการที่สามารถต่อยอดได้ ติดตามการเติบโตและการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้เข้ารอบ 7 ทีมสุดท้ายในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม รุ่นที่ 11 หรือ Banpu Champions For Change (BC4C#11) ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions