ธนาคารไทยพาณิชย์ ตอกย้ำความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ล่าสุด ได้รับการคัดเลือกจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทดสอบการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail CBDC) เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัดในช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 สะท้อนขีดความสามารถทางเทคโนโลยีดิจิทัลของธนาคาร ผนวกกับประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญทางการเงินในเชิงลึก ตลอดจนความพร้อมด้านทรัพยากรของธนาคารในการรองรับการให้บริการในทุกมิติ โดยความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันวางโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมการเงินแห่งโลกอนาคตให้กับประเทศไทยที่จะช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคธุรกิจ พร้อมช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวก และมีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการคัดเลือกจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทดสอบการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail CBDC) เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัด ภายใต้ 2 แกนหลัก ได้แก่ 1.การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย และ 2. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อสร้างบริการทางการเงินใหม่ๆ โดยจะนำร่องเปิดทดสอบให้บริการในช่วงปลายปี 2565 จนถึงกลางปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีความเชี่ยวชาญในเชิงลึก รวมถึงมีประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อลูกค้ารายย่อย เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (E-Wallet) ในวงจำกัดร่วมกับหลากหลายพาร์ทเนอร์ชั้นนำของประเทศ แอปพลิเคชัน SCB EASY Robinhood (โรบินฮู้ด) และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ธนาคารยังมีความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากรที่สามารถช่วยรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า เราจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำจุดแข็งของธนาคารมาประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดความร่วมมือครั้งนี้ร่วมกับ ธปท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail CBDC) คือ เงินในรูปแบบธนบัตรที่ถูกพัฒนาให้กลายสภาพเป็นรูปแบบเงินดิจิทัล ทำให้การถือ Retail CBDC เทียบเท่ากับการถือธนบัตร ไม่มีความเสี่ยง นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินครั้งสำคัญที่จะเชื่อมโอกาสจากทั่วทุกมุมโลกมาสู่ประเทศไทยอย่างไร้พรมแดน พร้อมช่วยเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ ด้วยเครือข่ายการชำระเงินที่หลากหลาย โปร่งใส และสามารถติดตามได้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนสามารถพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ประสบการณ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ พร้อมช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกและมีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น