บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เสริมความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในเมืองไทยอีกขั้น ดึง บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ N Health ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 ในเครือ BDMS จับมือ บริษัท โนโวยีน เอไอที จำกัด (NovogeneAIT) ก่อตั้ง บริษัท เอ็นเฮลท์ โนโวยีน จีโนมิกส์ จำกัด หรือ NNG (เอ็นเอ็นจี) ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ขึ้น โดยได้นำเทคโนโลยีอิลลูมินา (Illumina) นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของการวิเคราะห์หาลำดับดีเอ็นเอและการหาลำดับเพื่อการรักษาโรคที่ใช้อย่างแพร่หลายในแล็บชั้นนำระดับโลกมาใช้ในไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ BDMS Genomic Center ยกระดับขีดความสามารถทางการแพทย์ของไทยให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแบบเฉพาะบุคคล พร้อมเตรียมให้ความร่วมมือสถาบันการศึกษาทางการแพทย์เพื่อพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรองรับ หวังสร้างให้ไทยก้าวสู่การเป็น Genomic Center แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2563 – 2583 นั้นประกอบด้วย ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเก็บตัวอย่างพันธุกรรม การตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA sequencing) การจัดทำและกำกับดูแลคลังจีโนมของประเทศ ไปจนถึงการแปลผลเพื่อนำไปใช้ทางการรักษา นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนาบุคลากร เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแพทย์จีโนมิกส์ของประเทศและลดการพึ่งพาห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ BDMS ในฐานะเครือข่ายบริการทางการแพทย์ที่ครบวงจรของประเทศไทย และ N Health ในฐานะห้องปฏิบัติการที่ให้บริการทั้งภายในเครือข่ายและนอกเครือข่าย ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน จึงพร้อมที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับภูมิภาค (Medical Hub) ด้วยศักยภาพของโรงพยาบาลและคลีนิคในเครือกว่า 54 แห่ง ที่พร้อมให้บริการเก็บตัวอย่างพันธุกรรม แปลผล ให้คำแนะนำในการรักษา และร่วมมือในด้านงานวิจัยต่างๆ ขณะที่ N Health สามารถวิเคราะห์และจัดเก็บผลเพื่อสร้างเป็นคลังจีโนมร่วมกับภาครัฐ อันจะนำประโยชน์ด้านพัฒนาการทางการแพทย์มาสู่ประเทศไทยได้อีกขั้น
ทั้งนี้ การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และทำนายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยำ และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนของวงการแพทย์อย่างก้าวกระโดดในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต ตลอดจนการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศ ปัจจุบันการแพทย์จีโนมิกส์มีบทบาทสำคัญกับระบบสาธารณสุข และเริ่มมีการให้บริการในหลายประเทศภายใต้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และสิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ปี พ.ศ. 2563–2567 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ของประเทศ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ รวมถึงเกิดโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นผู้นำศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน
“การก่อตั้งบริษัท เอ็นเฮลท์ โนโวยีน จีโนมิกส์ จำกัด หรือ NNG (เอ็นเอ็นจี) ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นของ BDMS ที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถทางการแพทย์ในการดูแลรักษาสุขภาพคนไทย ด้วยการแพทย์แบบจีโนมิกส์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของทาง BDMS ที่ว่าเราเป็นผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่ทุ่มเทและให้บริการด้วยคุณภาพระดับมาตรฐานสากลโดยเน้นผู้ป่วยเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์นี้ ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งอนาคตที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลและรักษาสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากจะได้รับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดแบบเฉพาะบุคคลแล้ว NNG จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการแพทย์แบบจีโนมิกส์ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งทาง BDMS เชื่อมั่นว่า NNG จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ BDMS ยังมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านจีโนมิกส์ในประเทศไทยที่ปัจจุบันยังขาดแคลน โดย BDMS และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หารือเพื่อจัดทำแผนการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคคลกรด้านจีโนมิกในประเทศไทยในวันที่ 12 กันยายน 2565 ซึ่งจะเปิดหลักสูตรให้กับบุคลากรทั้งในเครือข่ายและนอกเครือข่ายได้พัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวต่อไป”แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวเสริม
ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล 7.1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าวถึงที่มาของการก่อตั้ง บริษัท เอ็นเฮลท์ โนโวยีน จีโนมิกส์ จำกัด หรือ NNG (เอ็นเอ็นจี) ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ว่า “ประเทศไทยมีการตรวจวิเคราะห์ยีนเฉพาะบุคคลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งการตรวจดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ต้องนำยีนดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ยังห้องแล็บในต่างประเทศ ผู้ใช้บริการจึงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ประกอบกับใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน บางครั้งอาจไม่ทันท่วงทีกับการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคร้าย ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ เอ็นเฮลท์ (N Health) ในฐานะผู้นำด้านการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของประเทศไทย ในเครือ BDMS จึงได้ผสานความร่วมมือกับ บริษัท โนโวยีน เอไอที จำกัด (NovogeneAIT) สิงคโปร์ ก่อตั้ง บริษัท เอ็นเฮลท์ โนโวยีน จีโนมิกส์ จำกัด หรือ NNG (เอ็นเอ็นจี) ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการ BDMS Genomic Center และเป็นการยกระดับขีดความสามารถของวงการแพทย์ไทยให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแบบเฉพาะบุคคลให้กับประชาชนไทย และขยายบริการสู่การเป็น Genomic Center แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการก่อตั้ง NNG (เอ็นเอ็นจี) ศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์นั้น ยังช่วยให้ไทยมีคลังจีโนมที่แข็งแกร่ง เพื่อนำไปใช้พัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศให้ดียิ่งขึ้นด้วย “ความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และการรักษาแบบจีโนมิกส์ในครั้งนี้ ถือเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางพันธุศาสตร์ของประชากรไทย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาการตรวจพันธุกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลเฉพาะบุคคลทั้งในเชิงการป้องกันและการรักษา ตลอดจนสนับสนุนงานด้านการวิจัยและการพัฒนาร่วมกับบริษัทผลิตยาและวัคซีนในอนาคต สำหรับโรคต่างๆ โรคร้ายแรง และโรคอุบัติใหม่ ให้เหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางการแพทย์เชิงรุก และพร้อมรองรับการให้บริการในระดับสากลต่อไป”แพทย์หญิงปรมาภรณ์ กล่าวสรุป