เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ชี้โอกาสลงทุนในจีน ผ่าน K-CHINA ที่พร้อมเติบโตท่ามกลางการฟื้นตัว รับแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ชี้โอกาสลงทุนในจีน ผ่านกองทุน K-CHINA (กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน) ที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนเติบโต (Growth) คุณภาพสูง (High Quality) และอยู่ในกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Economy) เพื่อคว้าโอกาสรับผลตอบแทนในอนาคต ในงานสัมมนาหัวข้อChinese Opportunities Amidst a Gradual Recovery โดยมี ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญการลงทุนจาก JP Morgan Asset Management ร่วมประเมินเศรษฐกิจจีนที่กำลังเข้าสู่ถนนสายใหม่กับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวโดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และการบริโภคในประเทศที่หนุนจากจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน

นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากภาพรวมการลงทุนทั่วโลก สถานการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ในขณะที่จีนยังก็คงดำเนินนโยบาย Zero-Covid ที่แม้จะยืดหยุ่นมากขึ้น แต่เมื่อมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อทางการจีนก็ยังมีการประกาศให้ล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ในขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังคงอ่อนแอ จากปัญหาด้านสภาพคล่องในบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีการเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยกดดันหลักทำให้ตลาดหุ้นจีนยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี จีนยังสามารถใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจีนยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกับประเทศอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนยังต้องติดตามว่านโยบายของจีนจะเปลี่ยนไปอย่างไร และจะกระทบต่อภาพรวมการลงทุนอย่างไร

มร.โฮเวิร์ด หวัง  Head of Greater China Equities JP Morgan Asset Management กล่าวว่า จากนโยบาย Zero-Covid ของจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคในประเทศอีกทั้งปัญหาในภาคอสังหาฯ ล้วนส่งผลให้ยอดขายและการลงทุนหดตัว ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี JP Morgan มองว่าจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ แทน เช่น

  1. จีนจะลดความเข้มงวดข้อบังคับในบริษัทอินเทอร์เน็ต หลังจากที่เข้มงวดมามากก่อนหน้านี้ ซึ่งแม้ว่าจะกระทบต่อผลดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าจะทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้นได้ในระยะยาว
  2. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น และลดการพึ่งพาต่างชาติ
  3. สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ให้สอดคล้องกับกระแสหลักของโลกที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดย 3 กลุ่มธุรกิจหลักที่ JP Morgan เลือกลงทุนในหุ้นจีน ได้แก่

1)     Technology: การอัพเกรดเทคโนโลยีและทดแทนการนำเข้า โดยความสนับสนุนของรัฐบาลจีนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ภาคเอกชนจึงมีการลงทุนในหลากหลายด้าน ซึ่งจะผลักดันให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมและเซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

2)   Carbon Neutrally: เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานสะอาด จาการที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ทำให้การลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีความน่าสนใจ            ไม่ว่าจะเป็น พลังงานทดแทน รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคจีน อีกทั้งประเทศจีนมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเทียมที่มีเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอีกด้วย

3)    Consumption: ผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพและสุขภาพที่ดี จีนทำ จีนใช้ จีนเติบโต จากการที่จีนเป็นตลาดด้านการบริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก จากจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน เทียบเท่ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศจีน คาดว่าจะแตะระดับ 48 % ของยอดขายทั่วโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ JP Morgan ประเมินว่าการลงทุนในระยะยาวในตลาดหุ้นของประเทศจีนปัจจุบัน มีโอกาสสร้างผลตอบแทนประมาณ 15 – 20 % ต่อปีในระยะ 5 ปี ข้างหน้า เนื่องจาก Valuation อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวและต่ำกว่าตลาดหุ้นหลักอื่นๆ ของโลก และตลาดได้สะท้อนปัจจัยลบต่างไปมากแล้ว

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า นโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้เป็นเรื่องของการเมือง เนื่องจากเกรงว่าการแพร่ระบาดจะลุกลามก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีหลังการประชุมผ่านไป ทางการจีนน่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายแบบค่อยๆ ผ่อนคลาย เริ่มจากปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ก่อน ซึ่งอาจจะกินเวลายาวนานถึง 1 ปีกว่า Zero-Covid จะสิ้นสุด ด้านภาคอสังหาฯ ของจีน คาดว่าสี จิ้น ผิง ไม่น่าจะออกมาตรการรุนแรงใดที่จะช่วยกระตุ้นกลุ่มอสังหาฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมองกว่ากลุ่มนี้ไม่ได้เป็น Growth Engine หรือตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะมองว่าบ้านมีไว้สำหรับอยู่อาศัย ไม่ได้มีไว้ปั่นราคา มองว่าหากกลุ่มอสังหาฯ ไม่สามารถกลับมาเฟื่องฟูได้ แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า หรือนวัตกรรมด้าน Hardware ต่างๆ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญมากกว่า ส่วนเรื่องการมาตรการเพื่อควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีน ไม่ว่าจะเป็น เกมส์ออนไลน์ อีคอมเมิร์ส โซเชียล มีเดีย และ สถาบันกวดวิชา จากความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด จะไม่มีการเข้มงวดเพิ่มเติม แต่คงจะไม่ผ่อนคลายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทางการจีนมองว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้เป็นเศรษฐกิจมายา ไม่ใช่ เศรษฐกิจจริง อย่างเช่น กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด รวมถึงระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกให้กับจีนได้

นางสาวศิริพร กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า KBank Private Banking ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน มองว่าหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวที่มีความชัดเจนทั้งในด้านการอัพเกรดเทคโนโลยีและทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศที่ผู้บริโภคจีนต้องการสินค้าคุณภาพและสุขภาพที่ดี ทำให้การลงทุนในจีนเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะสร้างโอกาสเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดยในกรณีฐานคาดหวังผลตอบแทนสูงถึง 17-20% ใน 12 เดือนข้างหน้า