ปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ หรือ “Great Resignation” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2021 และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นพนักงานทั่วโลกพบว่าพนักงาน 1 ใน 5 คนมีแผนที่จะลาออกจากงานภายในปีนี้ โดยพนักงานกว่า 50% และ 47% จากการสำรวจระบุว่า ปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนงาน คือความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาและสถานที่ในการทำงานได้แม้ว่าบริษัทชั้นนำมากมายออกนโยบายให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแต่ผลสำรวจแสดงว่าแม้วิกฤตโควิดจะหมดไปก็ตาม56% ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงต้องการการทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Work) เพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนเราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า ทำไมจึงอยากให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ หากจะต้องเสี่ยงในการสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถ
นายจิม ฟาลเทอเสค รองประธานอาวุโส ฝ่ายกิจการองค์กรของ 3เอ็ม ภูมิภาคเอเชีย และกรรมการผู้จัดการของ 3เอ็ม ประเทศเกาหลี เผยว่า ในช่วงแรกของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ความกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันจากคนละที่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพของงาน แต่ผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจคือทีมของเราสามารถทำงานร่วมกันได้ดีกว่าเดิมสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายและตามกำหนดการไม่ได้ด้อยไปกว่าเดิมเลยยิ่งไปกว่านั้นจากหลากหลายผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าธุรกิจที่ปรับใช้การทำงานแบบเสมือน หรือ Virtual Work นั้นสามารถบรรลุประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นได้
สำหรับประเทศไทยนั้นผลสำรวจได้พบว่าพนักงาน 6 ใน 8 คนมีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าเดิม หรือสูงขึ้นเมื่อทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้พนักงานในกลุ่มนี้จึงมีความต้องการให้บริษัทมีมาตรการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ต่อไปในอนาคตและสิ่งนี้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งขึ้นที่ส่งผลต่อระดับความพึงพอใจของพนักงานในการทำงาน รวมถึงการตัดสินใจในการเปลี่ยนงานอีกด้วย
วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ช่วยยืนยันได้ว่าพนักงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและประสบความสำเร็จได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศและยังทำให้เราเรียนรู้ที่จะมุ่งเน้นคุณภาพของผลลัพธ์มากกว่าจำนวนชั่วโมงในที่ทำงาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยในการวัดประสิทธิภาพในการทำงานสิ่งนี้ยังบอกให้องค์กรเชื่อมั่นในพนักงานในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้กับองค์กร โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการทำงานของพนักงานมากเกินไป รวมถึงการสื่อสารถึงความเชื่อมั่นนั้นที่องค์กรมีต่อพนักงานให้พนักงานรับรู้ด้วย ซึ่งความเชื่อมั่นนี้จะส่งผลดีต่อองค์กร โดยจากการวิจัยพบว่าความเชื่อมั่นช่วยสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรและส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีให้แก่องค์กร
จากประสบการณ์การทำงานแบบทางไกล (Remote Work) และการใช้โมเดลการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งอาศัยความเชื่อมั่นในพนักงาน (Flexible and Trust-based Work Model) ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ผมขออธิบายโมเดลการทำงานที่3เอ็มได้ริเริ่มนำมาใช้ซึ่งเราเรียกว่า “Work Your Way” ที่ช่วยยกระดับการทำงานไปอีกขั้น โดยเป็นรูปแบบการทำงานแบบยืดหยุ่นแบบผสม หรือทางไกลทำให้เราสามารถเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป
สรรหาจังหวะเวลาที่มีความหมาย (Moments That Matter) เริ่มจากระดับบนขององค์กร
ภาวะผู้นำต้องการทั้งความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว เราจึงควรหาหนทางที่จะสร้าง “จังหวะเวลาที่มีความหมาย”ไม่ว่าทีมของเราจะทำงานที่ไหนก็ตามองค์กรจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการวางแผนการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีที่เกี่ยวกับงานและส่วนตัวทั้งในรูปแบบเสมือน หรือการพบปะแบบเห็นหน้าเห็นตา โดยกลยุทธ์นั้นจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ขนาดของทีม วิธีการทำงาน ความชอบ และบุคลิกภาพของแต่ละคน ซึ่งอาจรวมถึงการประเมินผลการดำเนินงาน การฉลองความสำเร็จแต่ละขั้น หรือกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ภายในทีม หรือกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ โดยจังหวะเวลาเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการเจอตัวกันจริงๆ แต่จะต้องพูดคุยกันในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและมีความหมายมากที่สุดที่จะให้พนักงานรับรู้ได้ว่าองค์กรเห็นคุณค่าของพนักงาน
ลงทุนในทรัพยากรเพื่อให้การเตรียมความพร้อมให้พนักงานใหม่ (Onboarding) ประสบความสำเร็จ
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานแบบยืดหยุ่น หรือทางไกลนั้นมักจะยกเรื่องความยากลำบากของการทำ Virtual Onboarding กับผู้ที่พึ่งเริ่มงานมาเป็นประเด็นโดยบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่แล้วในการที่ทำให้พนักงานใหม่เข้าใจกระบวนการ วิธีทำงาน ระบบ ซอฟต์แวร์ วัฒนธรรมขององค์กร และการทำแบบออนไลน์ล้วนๆ ย่อมเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกขั้นมุมมองนี้ถือว่ามีเหตุผล แต่ผมก็มองว่าบริษัทต่างๆ ยังไม่เข้าใจวิธีการในการทำ Virtual Onboarding ให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงองค์กรสามารถพัฒนากระบวนการ Virtual Onboarding ได้ด้วยวิธีต่างๆ โดยอันดับแรกต้องหาวิธีปฏิบัติที่ช่วยให้พนักงานใหม่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าพนักงานจะเลือกทำงานแบบทางไกล ตัวอย่างเช่น การให้คำแนะนำพนักงานที่ชัดเจนครบถ้วน การใช้วิดีโอ หรือการจัดตารางการพบปะพูดคุยทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการกับพนักงาน
นอกจากนั้น องค์กรควรจัดให้มีเครือข่ายเฉพาะสำหรับพนักงานใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกที่สามารถสร้างคอนเนคชันหรือสามารถติดต่อกับผู้อื่นและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับที่ 3เอ็มเรามีโปรแกรม “New Employee Opportunity Network” หรือ NEON ซึ่งเป็นเครือข่ายสำหรับพนักงานใหม่ที่ช่วยเชื่อมโยงและกระตุ้นการเติบโตของพนักงานใหม่ ผ่านการสร้างเครือข่ายเฉพาะทาง การพัฒนา และการสร้างโอกาสการเป็นผู้นำ เพื่อให้พนักงานใหม่เหล่านี้สามารถขับเคลื่อนกลยุทธ์ วัฒนธรรม และดำเนินงานขององค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
The Future of Work – การทำงานแห่งอนาคตต้องให้พนักงานเลือกรูปแบบที่เหมาะกับตนเอง
ภายใต้เงื่อนไขที่การบริหารจัดการเป็นไปอย่างเหมาะสม การให้พนักงานเลือกวิธีในการทำงานที่ตนชอบจะไม่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ การทำงานแบบยืดหยุ่นนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การเลือกกะว่าจะทำงานกะไหน แต่ยังหมายถึงการให้อิสระในการเลือกเวลาที่จะเข้าทำงานตามใจพนักงานด้วย ซึ่งนอกจาก 3เอ็มแล้วยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานอย่างไร เมื่อไหร่ และจากที่ไหนการใช้โมเดลการทำงานแบบยืดหยุ่นที่อาศัยความเชื่อมั่นในพนักงานนั้นถือเป็นวิธีการที่ก้าวหน้าสำหรับการทำงานในอนาคต ที่จะช่วยรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กร ทั้งพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่และพนักงานที่มีครอบครัว ซึ่งการทำงานไปพร้อมกับหน้าที่การดูแลบุตร เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่ด้วยโมเดลการทำงานใหม่ของ 3เอ็มนั้นทำให้พนักงานสามารถวางแผนการทำงานไปพร้อมกับการดูแลบุตรได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้พนักงานเหล่านี้ไม่เสียโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ในขณะที่ยังสามารถมีความสุขในการสร้างครอบครัว และเลี้ยงดูบุตรได้
โปรแกรมการทำงานแบบยืดหยุ่นนี้ไม่จำกัดอยู่แค่ที่สำนักงาน โดยสามารถนำไปใช้กับพนักงานสายการผลิตได้แม้ว่าจะยุ่งยากและท้าทายมากกว่า แต่ก็เป็นพันธกิจที่สำคัญขององค์กร แม้ว่าพนักงานจะต้องปฏิบัติงานที่โรงงานจากลักษณะเฉพาะของงานที่ทำ แต่ 3เอ็มก็ให้ทางเลือกที่ยืดหยุ่นกับพนักงานในสายการผลิตด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการเลือกเวลาเริ่มงาน และเลิกงาน หรือการสับเปลี่ยนเวลางาน
ที่ 3เอ็ม เราได้เห็นผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์จากการใช้โมเดลการทำงานแบบใหม่ หรือ “Work Your Way” โดยกว่า 90% ของพนักงานของเราทั่วโลกนั้นระบุว่าได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากการสำรวจล่าสุดที่จัดทำขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสรรหาและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลการสำรวจยังพบอีกว่า เราควรหาวิธีที่จะส่งเสริมให้พนักงานทำงานในรูปแบบที่ถนัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แทนที่จะมุ่งเน้นแต่การให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศอย่างที่เห็นโดยทั่วไป ซึ่งจะนำพาความสำเร็จมาสู่องค์กร