50 ยังแจ๋ว เตรียมฉลองวันเกิดครบรอบ 50 ปีอย่างยิ่งใหญ่ของเมอร์ไลอ้อน สัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองสิงคโปร์ วันที่ 15 กันยายนนี้

เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของเมอร์ไลอ้อน การท่องเที่ยวสิงคโปร์จัดงานใหญ่ ชวนนักท่องเที่ยวร่วมร้องเพลง Happy Birthday ให้กับสัญลักษณ์ชื่อดังของประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 15 กันยายนนี้

ถ้าให้นึกถึงประเทศสิงคโปร์ เชื่อว่าหลายคนจะคิดถึงภาพของเมอร์ไลอ้อนเหมือน ๆ กัน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองสิงคโปร์ แน่นอนว่าต้องมีหลายคนที่สงสัยถึงความเป็นมาของเจ้าสิงโตทะเลตัวนี้ไม่มากก็น้อย วันนี้เราจะพาคุณ ๆ ไปทำความรู้จักกับประวัติของสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับสิงคโปร์มาอย่างยาวนานให้มากขึ้นกัน

จุดกำเนิดของเมอร์ไลอ้อนนั้น ไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีตำนานเล่าขานกันถึงที่มาของเมอร์ไลอ้อนว่า เจ้าชายแสง นิลา อุตามา แห่งเมืองพาเล็มบัง (ประเทศอินโดนีเซีย) ผู้ค้นพบท่าเรือสินค้าเก่าแก่ของเมืองเทมาเส็ก ได้เห็นสัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างคล้ายสิงโตตอนที่มาถึงเกาะแห่งนี้ จึงตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ขึ้นใหม่ว่า สิงหปุระ หรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตคำว่า “สิงห์” และ “ปุระ” ซึ่งแปลว่า เมืองสิงห์ และได้ขนานนามอีกชื่อว่า “เมอร์ไลอ้อน” ที่เกิดจากคำว่า “Mer” ที่แปลว่า ทะเล และ Lion ที่แปลว่า สิงโต

ต่อมาในปี 2507สัตว์ในตำนานที่มีหัวเป็นสิงโต และมีลำตัวเป็นปลา ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นโลโก้ให้กับการท่องเที่ยวสิงคโปร์ โดยการออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นหมู่บ้านชาวประมง (Fishing Village) รวมกับสิงหปุระ (Lion City) เพื่อเป็นการรำลึกถึงช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เกาะแห่งนี้ได้ถูกค้นพบ โลโก้เมอร์ไลอ้อน ได้จดทะเบียนการค้าเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 และได้ถูกนำมาใช้เป็นเวลายาวนาน33 ปี ตั้งแต่นั้น จนถึง พ.ศ. 2540

ส่วนรูปปั้นเมอร์ไลอ้อนนั้นได้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2515 โดยช่างฝีมือชาวสิงคโปร์ชื่อว่า ลิม นัง เส็งใช้แบบร่างโดยศิลปินชื่อ ควาน ไส เคียง เป็นต้นแบบ ส่วนหัวสิงโต และส่วนลำตัวที่เป็นปลาก็มาจากตำนานที่ถูกเล่าส่งต่อมาจากอดีตโดยรูปปั้นสร้างให้หันหน้าออกไปยังท้องทะเลตามหลักฮวงจุ้ย ซึ่งนายช่างลิมที่เป็นปฏิมากรนั้น ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ปั้นเมอร์ไลอ้อน หลังจากที่เขาได้รับรางวัลมากมายจากการประกวดแข่งขันที่จัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวสิงคโปร์

ช่างลิมกำลังแกะสลักรูปปั้นสิงโตทะเลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นประติมากรรมต้นแบบเมอร์ไลอ้อนในปัจจุบัน

(เครดิตภาพ Lim Nang Seng Collection, courtesy of National Archives of Singapore)

แม้แต่คนสิงคโปร์หลายคนเองก็อาจจะไม่ทราบว่า ช่างลิม ไม่ได้ปั้นเมอร์ไลอ้อนนี้ด้วยตัวคนเดียว แต่ได้รับความช่วยเหลือจากลูก ๆ ทั้ง 8 คนของเขา โดยลูก ๆ ที่โตหน่อย ก็จะปีนขึ้นไปบนนั่งร้าน และช่วยแกะส่วนตาของเมอร์ไลอ้อน ส่วนน้องเล็ก ๆ ก็แกะสลักเกล็ดปลา และครีบในส่วนหางของเมอร์ไลอ้อน ลูก ๆ ทุกคนมีความยินดีและภูมิใจที่ได้ช่วยพ่อของพวกเขาทำงานนี้ และไปช่วยงานที่สถานที่ก่อสร้างเกือบทุกวันทั้งก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน

ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2515 อดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู เป็นประธานในพิธีติดตั้งและเผยโฉมเมอร์ไลอ้อนอย่างเป็นทางการ ที่ปากแม่น้ำสิงคโปร์ โดยเมอร์ไลอ้อนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตามหลังฮวงจุ้ย เชื่อว่าจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมือง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้รูปปั้นเมอร์ไลอ้อน ณ เมอร์ไลอ้อน ปาร์คกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตของประเทศสิงคโปร์ที่รู้จักกันไปทั่วโลก

ในปีพ.ศ. 2540 ได้มีการสร้างสะพานเอสพลานาด เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรจากตัวเมืองไปยังย่านมารีน่า ซึ่งส่งผลให้ทัศนียภาพของเมอร์ไลอ้อนถูกบดบัง จึงเป็นสาเหตุให้มีการย้ายที่ตั้งของเมอร์ไลอ้อน ในปี 2545 โดยได้มีการคัดเลือกสถานที่ถึง 8 แห่งที่จะเป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของเมอร์ไลอ้อน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ย้ายรูปปั้นเมอร์ไลอ้อน ไปที่หน้าศูนย์การค้า One Fullerton ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 120 เมตรหนึ่งเหตุผลที่สำคัญมากก็คือ เมอร์ไลอ้อนจะต้องตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำสิงคโปร์เท่านั้นเนื่องจากบริเวณนี้ เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบริเวณที่ เจ้าชายแสง นิลา อุตามา ได้เห็นสัตว์ที่ท่านคิดว่าเป็นสิงโตเป็นครั้งแรกนั่นเอง

คุณรู้หรือไม่ว่า รูปปั้นเมอร์ไลอ้อน เคยโดนฟ้าผ่ามาก่อน เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 เป็นช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในตอนบ่ายแก่ๆ ทำให้ชิ้นส่วนบริเวณแผงคอตกลงมา จนเกิดเป็นรูขึ้นที่รูปคลื่นที่ส่วนฐานของรูปปั้น โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว รูปปั้นเมอร์ไลอ้อนถูกปิดไปประมาณ 1 เดือนเพื่อบูรณะซ่อมแซมและติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่าให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

รูปปั้นเมอร์ไลอ้อนได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดของประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าใครก็ตามที่มาถึงสิงคโปร์ จะต้องไม่พลาดที่จะไปแวะทักทายเจ้าเมอร์ไลอ้อนตัวนี้ ต่อมาในปี 2561 การท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้เปิดตัวการ์ตูนเมอร์ไลอ้อน โดยตั้งชื่อว่า“น้องเมอร์ลี” เพื่อดึงดูดเด็ก ๆ และเยาวชน ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างสูง ความน่ารักของน้องเมอร์ลีก็สามารถครองใจผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่นั้นมาเมอร์ไลอ้อน และน้องเมอร์ลี ก็ทำหน้าที่เล่าขานตำนานที่ผ่านมาในอดีต และพร้อมที่จะสร้างเรื่องราวบทใหม่มากมายเกี่ยวกับเมอร์ไลอ้อน และน้องเมอร์ลี ต่อไป

นาย คีธ ตัน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวสิงคโปร์กล่าวว่า “เมอร์ไลอ้อน เป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองสิงคโปร์ที่รู้จักกันไปทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในตัวแทนการท่องเที่ยว ที่ช่วยให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวามากขึ้น และเป็นบ้านเกิดที่ชาวสิงคโปร์ทุกคนภาคภูมิใจ หลังจากช่วงเวลาที่ยากลำบากของธุรกิจการท่องเที่ยวสองปีที่ผ่านมา ถึงเวลาที่เราจะร่วมเฉลิมฉลองวันเกิดครบ 50 ปีให้กับเมอร์ไลอ้อน โดยขอเชิญชวนทั้งคนสิงคโปร์และนักท่องเที่ยวให้มาฉลองวันเกิดร่วมกัน”

ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์กำลังเตรียมพร้อมรับนักเดินทางต่างชาติ การฉลองครบรอบวันเกิดครบ 50 ปีของเมอร์ไลอ้อน จึงเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองเพื่ออนาคตที่สดใส สำหรับนักท่องเที่ยวสายเซลฟี ที่ต้องการภาพคู่กับเมอร์ไลอ้อน รูปปั้นเมอร์ไลอ้อน ที่เมอร์ไลอ้อน ปาร์ค ใกล้ศูนย์การค้า One Fullerton จะมีการจัดไฟประดับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน ตั้งแต่เวลา หกโมงเย็นถึงเที่ยงคืนทุกวัน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ ก็สามารถเข้าชมนิทรรศการศิลปะ เกี่ยวกับเมอร์ไลอ้อนได้ที่หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ ในงาน “Nothing is Forever: Rethinking Sculpture in Singapore” และสำหรับผู้ที่สนใจด้านการทำขนมก็สามารถลงทะเบียนเรียนการทำคุกกี้รูปน้องเมอร์ลีกับ RedMan Baking Studio ได้อีกด้วย

สำหรับรายละเอียดเพิ่ม กรุณาเข้าไปที่ https://www.nationalgallery.sg/content/art-all-around-you-discover-sculpture-anew-through-landmark-survey