ราชอาณาจักรภูฏานได้เปิดประเทศอีกครั้งเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลังปิดประเทศไประยะหนึ่งเนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 พร้อมเปิดตัวยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าของประเทศทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการยกระดับประสบการณ์ของผู้มาเยือนทุกคน
“การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ในรูปแบบ น้อยแต่มาก เป็นนโยบายของประเทศภูฏานซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวในปี 1974 อย่างไรก็ตามจิตสำนึกและความตั้งใจอันดีงามเหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไปโดยเราไม่รู้ตัว ดั้งนั้นเมื่อมีโอกาสได้ทบทวนสิ่งต่างๆ หลังวิกฤตการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่ ตอนนี้พวกเราพร้อมแล้วที่จะเปิดบ้านอย่างเป็นทางการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอีกครั้ง นี่คือช่วงเวลาสำคัญของการทบทวนตัวเอง ทั้งสารัตถะแห่งนโยบาย คุณค่า และความดีที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น” ดร.โลเท เชอริง(H.E. Dr. Lotay Tshering) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาณกล่าว
“เราต้องเชื่อมั่นว่าประเทศของเรามีคุณค่า เป็นสังคมที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และวิถีธรรมเนียมปฏิบัติ ประเทศที่ประชาชนรู้สึกปลอดภัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบ และได้รับความสะดวกสบายที่ดีที่สุดจากโครงสร้างพื้นฐาน ปกติเวลาเราพูดถึงคำว่า “มีมูลค่าสูง” คนทั่วไปจะรู้สึกถึงสินค้าระดับไฮเอนด์สุดพิเศษ และบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพักผ่อนแบบลักชัวรี แต่นั่นไม่ใช่ภูฏานเลย เช่นเดียวกับคำว่า “ปริมาณน้อย” ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงการจำกัดนักท่องเที่ยว เราทุกคนรู้สึกซาบซึ้ง และยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีคนเห็นคุณค่าประเทศเล็กๆ ของเรา ในขณะที่เราก็ตั้งใจที่จะเรียนรู้จากผู้มาเยือนให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ตอนนี้การเข้าออกประเทศของเราไม่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขแล้ว ซึ่งน่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหลายคน สิ่งที่ดีที่สุดที่ในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเราก็คือเยาวชน และทีมงานผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการท่องเที่ยว และแม้ว่าเราจะมองพวกเป็นตัวแทนระดับแนวหน้า แต่อันที่จริงแล้ว ชาวภูฏานทุกคนล้วนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่เราขอให้นักท่องเที่ยวชำระก็เปรียบเสมือนการลงทุนซ้ำ ณ ที่แห่งนี้ สถานที่ซึ่งทุกคนจะมาพบปะกัน มรดกที่เราทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันไปยังชั่วลูกชั่วหลาน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ประเทศภูฏาน” ดร.โลเท เชอริง กล่าวเสริม
การปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศภูฏานประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) จาก 65 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของประเทศภูฏาน* ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจะถูกนำไปสนับสนุนหลากหลายโครงการเพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมของภูฏาน ตลอดจนโครงการเพื่อความยั่งยืน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและโอกาสสำหรับเยาวชน รวมถึงให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับประชาชน อาทิ บางส่วนของกองทุนค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนจะใช้ไปกับการปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากนักท่องเที่ยว ยกระดับแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ทำความสะอาดและบำรุงรักษาเส้นทาง ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และกระตุ้นภาคการขนส่งของภูฏาน รวมทั้งอีกหลายโครงการที่สำคัญ
ในฐานะที่ประเทศภูฏานเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เช่น ภัยจากธารน้ำแข็งละลาย น้ำท่วม และรูปแบบสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้) ภูฏานกำลังเพิ่มความพยายามในการรักษาสถานะให้เป็นประเทศเดียวที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบติดลบ – ในปี 2564 ภูฏานสามารถกักก๊าซคาร์บอนได้ถึง9.4 ล้านตัน จากปริมาณการปล่อยก๊าซที่มีประมาณ 3.8 ล้านตัน
“นอกจากจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของภูฏานแล้ว ค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนยังมุ่งตรงไปที่กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตแบบเดิมของภูฏาน รวมถึงสถาปัตยกรรมและค่านิยมดั้งเดิมตลอดจนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่มีความหมายสำหรับเราทุกคน อนาคตของมรดกแผ่นดินอยู่ในมือของเราทุกคนที่ต้องปกป้องและสรรค์สร้างเส้นทางใหม่ให้สำหรับคนรุ่นต่อไป” มร. ดอร์จีดราดุล (DorjiDhradhul) ผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏานกล่าว
“การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญของภูฎาน ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจแต่ยังมีผลด้านสังคมเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการจะรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเอาไว้ เป้าหมายในยุทธศาสตร์ใหม่ของเราคือมอบประสบการณ์อันมีคุณค่าสำหรับนักท่องเที่ยวในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างอาชีพที่มีรายได้ดีสำหรับพลเมืองของเราอีกด้วย นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและอยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาเป็นพันธมิตรของเราในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้” คุณดราดุลกล่าวเสริม
การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลภูฏานได้ใช้ช่วงเวลาระหว่างปิดประเทศจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อปรับปรุงคุณภาพถนน ทางเดิน วัด และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ ซ่อมแซมและปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ จัดกิจกรรมเก็บขยะ ยกระดับมาตรฐานของผู้ให้บริการเพื่อรับรองบริการท่องเที่ยวที่เป็นมืออาชีพ (เช่น โรงแรม มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์ และคนขับรถ) พนักงานและผู้ให้บริการทุกคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเข้าร่วมอบรมในโปรแกรมเพิ่มทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้น
ยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว
“เรารู้ดีว่านักท่องเที่ยวจะต้องคาดหวังตั้งแต่ทราบอัตราค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานของงานบริการ และคุณภาพในมิติต่างๆ ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อนักท่องเที่ยวทุกคน ผ่านคุณภาพของงานบริการที่จะได้รับ ความสะอาด และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของเราเพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ ซึ่งเรามีการจำกัดจำนวนรถที่จะวิ่งบนถนน และมีการจำกัดจำนวนผู้ที่เยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละแห่ง ซึ่งถือเป็นการรักษาประสบการณ์ของผู้มาเยือนประเทศภูฏาน เราต้องมอบความจริงใจที่แท้จริง เรียบง่าย แต่ต้องอยู่ในมาตรฐานงานบริการระดับโลก เรายังวางแผนที่จะทำงานร่วมกับภาคีในด้านการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนสามารถสัมผัสได้เพื่อโชว์สิ่งที่ดีที่สุดที่ภูฏานมีให้พวกเขาได้เห็น และเราหวังว่าทุกท่านจะได้รับรู้และยินดีต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศภูฏาน” ดร. ทันดิ ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวสรุป
การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศภูฏานเกิดขึ้นท่ามกลาง ‘โปรเจ็คท์พลิกโฉมประเทศ’ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับภาคบริหารราชการไปจนถึงภาคการเงิน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มุ่งสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศภูฏานโดยได้เสริมทักษะให้พลเมืองทุกคนมีความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ดร.โลเท เชอริง นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานเพื่อเผยโฉมภูฏานในรูปแบบใหม่ต่อหน้าบุคคลสำคัญของประเทศ และแขกผู้มีเกียรติทุกคน ซึ่งจัดขึ้นในทิมพู เมืองหลวงของประเทศภูฏาน ‘แบรนด์ภูฏาน’ มุ่งหวังที่จะมองโลกในแง่ดี และมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เพื่อเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนสู่ราชอาณาจักรแห่งนี้อีกครั้ง ในเวลาเดียวกันก็ต้องสื่อสารคำสัญญาและสร้างอนาคตสำหรับพลเมืองวัยหนุ่มสาวรุ่นต่อไป ‘Believe’ สโลแกนใหม่ของประเทศภูฏานสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเพื่ออนาคต ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางที่ทุกคนจะได้สัมผัส สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ใหม่ www.Bhutan.travel
ความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศภูฏานมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในระดับทวิภาคีมาตั้งแต่ในปี 1989 ซึ่งมิตรภาพระหว่างไทย-ภูฏาน ได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จเยือนระหว่างประเทศของพระบรมวงศานุวงศ์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังมีมรดกทางวัฒนธรรมแห่งพระพุทธศาสนา และการค้าที่เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นอีกด้วย
สายการบินดรุ๊กแอร์ และสายการบินภูฏานแอร์ คือ 2 สายการบินซึ่งบินตรงเส้นทางกรุงเทพ-ภูฏาน และประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งในจุดเริ่มต้นหลักสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศภูฏาน