3 วิธีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

วันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี ตรงกับวันมะเร็งเต้านมสากล (World Breast Cancer Day) ซึ่งโรคมะเร็งเต้านม พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย โดยคิดเป็น 28.6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และส่งผลให้มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในกลุ่มโรคมะเร็ง เพราะฉะนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต เพราะหากตรวจเร็ว รู้ไว ก็จะมีโอกาสรักษาหายได้

นายแพทย์ปิยศักดิ์ ทหราวานิช ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านมและการเสริมสร้างเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า มาตรฐานสากลในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ประกอบด้วย

  1. การซักประวัติโดยแพทย์ และตรวจเต้านมโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านเต้านม ซึ่งแนะนำผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ โดยทั่วไป ผลตรวจจะถูกแปลค่าเป็น BIRADSหรือ Breast Imaging Recording and Data system โดยมีคะแนนตั้งแต่ 0 – 6
  •  BIRADS 0 หมายถึง ข้อมูลที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย จำเป็นต้องตรวจเพิ่ม
  •  BIRADS 1 และ 2 หมายถึง ไม่พบสิ่งต้องสงสัยที่เสียงกับมะเร็ง แนะนำตรวจติดตามอาการทุก 1 ปี
  •  BIRADS 3 หมายถึง พบสิ่งต้องสงสัยเสี่ยงมะเร็ง แต่น้อยกว่า 2% แนะนำตรวจติดตามอาการทุก 6 เดือน
  •  BIRADS 4 หมายถึง พบสิ่งต้องสงสัยเสี่ยงมะเร็ง 2 – 95 % แนะนำเจาะชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์
  •  BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งต้องสงสัยเสี่ยงมะเร็งมากกว่า 95 % แนะนำเจาะชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์
  •  BIRADS 6 หมายถึง ได้ผลชิ้นเนื้อแล้วและผลออกมาเป็นมะเร็ง
  1. การเจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อ เป็นกระบวนการสำคัญในการวินิจฉัยยืนยันโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยตรวจแมมโมแกรม 3 มิติ และอัลตราซาวนด์แล้วพบว่ามีค่าตั้งแต่ BIRADS 4 และ 5 โดยมี 3 วิธีดังนี้
  •  Fine Needle Aspiration หรือ FNA เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กเบอร์ 22 เจาะเข้าไปบริเวณก้อน เพื่อดูดเอาเซลล์ออกมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง ข้อดีคือใช้เวลาประมาณ 1 – 2 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่มีผลตรวจแมมโมแกรมที่เป็น BIRADS 5 หรือ มีความสงสัยของมะเร็งมาก และควรแปลผลโดยพยาธิแพทย์ที่มีความเชียวชาญด้านเซลล์
  • Core Needle Biopsy เป็นการใช้เข็มเบอร์ใหญ่ขึ้น เจาะเข้าไปบริเวณก้อน เพื่อตัดเอาชิ้นเนื้อประมาณ 3 – 4 ชิ้น มาตรวจ ซึ่งจะให้ความแม่นยำมากกว่าการพิจารณาจากเซลล์ เนื่องจากสามารถดูโครงสร้างและรอยโรคได้ละเอียดกว่า มีการฉีดยาชาก่อนเจาะ และใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  • Vacuum Assist เป็นการใช้เข็มขนาดใหญ่ เจาะเข้าไปบริเวณก้อน เข็มจะทำการดูดชิ้นเนื้อและตัดเข้ามาในกล่องหลายครั้ง ข้อดีคือสามารถใช้ตัดก้อนเนื้อออกจนหมดได้ แต่ข้อจำกัดคือ ต้องใช้ในกรณีที่มั่นใจแล้วว่าก้อนเนื้อนั้นไม่ใช่เนื้อร้าย มีการฉีดยาชาก่อนเจาะ และจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค

    การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสม ควรใช้วิธีตรวจเต้านมโดยศัลยแพทย์เฉพาะทาง ร่วมกับวิธีตรวจแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์ เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำมากขึ้น รวมถึงเมื่อทราบผลการตรวจแล้ว หากพบว่าเป็น BIRADS 4 และ 5 ควรเข้ารับการเจาะพิสูจน์ชิ้นเนื้อก่อนการผ่าตัด เพื่อการวางแผนการรักษาในขั้นต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับรอยโรค และระยะของโรคมากที่สุด

    “สำหรับวิธีการผ่าตัดรักษา ผู้ป่วยหลายคนยังกังวลใจว่าจะต้องผ่าตัดออกทั้งเต้า ซึ่งในความเป็นจริง บางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกทั้งเต้าก็ได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก ๆ และมีขนาดของก้อนเล็ก ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดแบบเก็บเต้านม โดยเต้านมนั้นต้องมีลักษณะโครงสร้าง รูปร่างใกล้เคียงกับหน้าอกอีกข้าง ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดออกทั้งเต้า ปัจจุบันก็มีเทคนิคผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกทั้งหมด เหลือไว้แต่ผิวหนังด้านนอก หัวนมและลานหัวนม และเสริมสร้างเต้านมใหม่ทดแทน เพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงและไม่ให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ” นายแพทย์ปิยศักดิ์กล่าว