จัดพอร์ตการลงทุนในปี 2566 ยังไง ในสภาวะตลาดการเงินยังไม่เป็นใจ


อย่างที่เราทราบกันดีว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกส่วนใหญ่ได้ให้ผลตอบแทนได้ไม่ประทับใจนักลงทุนมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากปัจจัยลบได้สร้างผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง การบุกยูเครนโดยรัสเซีย นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมีปัจจัยบวกและลบหลายเรื่องที่นักลงทุนอาจมองข้ามไป

เดอะวิสดอมกสิกรไทย จึงได้มีการจัดการสัมมนาที่มีชื่อว่THE WISDOM Investment Forum : Wealth in Challenging World ‘เดินหน้าฝ่ามรสุม คว้าความมั่งคั่ง’ เพื่อให้ลูกค้าสามารถได้ข้อมูลและมุมมองการลงทุนที่ลึกซึ้ง หลายประเด็นการลงทุนในงานสัมมนานั้นไม่สามารถมองข้ามไปได้ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่างๆ

Positioning ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจของสัมมนาดังกล่าวมา ดังนี้


แบงก์ชาติยังมองเศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้ แม้อุปสรรคจะท้าทายก็ตาม

 ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจไทย รวมถึงมุมมองเศรษฐกิจโลก หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ลง 4 ครั้งด้วยกัน สะท้อนว่าภาพเศรษฐกิจโลกนั้นอึมครึมมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศพัฒนาแล้วมีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวสูงมาก เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมา

ขณะเดียวกันหลายประเทศในยุโรปก็ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน เนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อย่างกรณีของรัสเซียบุกยูเครน ส่งผลทำให้เงินเฟ้อนั้นสูงขึ้นไปอีก ทางด้านเศรษฐกิจจีนนั้นคาดว่าน่าจะโตไม่ถึง 5.5% ตามเป้า เนื่องจากปัญหาหลายๆ เรื่อง เช่นนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือแม้แต่ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ดร. ชญาวดี ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตแค่ 2.7% และมองว่ามีโอกาส 25% ที่เศรษฐกิจอาจโตไม่ถึงคาดการณ์ด้วยซ้ำ

ผลดังกล่าวนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อยเช่นกัน แต่ประเทศกำลังพัฒนา (EM) นั้นน่าจะยังเติบโตใช้ได้ ยกเว้นกลุ่มที่ส่งออกสินค้าเป็นหลักอย่าง เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ไต้หวัน ขณะเดียวกันไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FDI ที่เข้ามาในประเทศไทย

ค่าเงินบาทของไทย ดร. ชญาวดี มองว่าเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยที่ธนาคารกลางสหรัฐนั้นประกาศขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าจะชะลอขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะอยู่ในไตรมาส 1-2 ของปี 2566 ซึ่งถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าน้อยลง ความผันผวนของค่าเงินบาทหลังจากนี้น่าจะลดลง แต่ความผันผวนนั้นยังไม่หายไปสิ่งที่ต้องจับตามองว่าค่าเงินบาทจะผันผวนหรือไม่คือเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ถ้าหากผันผวนรวดเร็วเกินไปอาจกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามที่จะไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนของไทยผันผวนมากเกินไป

ความเสี่ยงของประเทศไทยที่ ดร. ชญาวดี มองไว้คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาที่ไทย ถ้าหากมาจำนวนมากก็จะทำให้เศรษฐกิจดี แต่ถ้าหากกลับมาไม่พอก็อาจกระทบเช่นกัน รวมถึงเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภาคการเงินที่ผันผวน

เธอได้แนะนำภาคธุรกิจในเรื่องการกระจายความเสี่ยง การสร้างกำแพงป้องกัน รวมถึงสายป่านที่ยาวนั้นช่วยภาคธุรกิจได้ การลดภาระหนี้ รวมถึงประกันความเสี่ยง จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดว่า GDP ของไทยปีนี้จะเติบโต 3.3% และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.8%


หลักทรัพย์กสิกรไทยชี้หุ้นไทย จีน หุ้นเทคฯ สหรัฐอเมริกา ยังเหมาะแก่การลงทุน

คุณสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บมจ. หลักทรัพย์กสิกรไทย ได้ชี้ถึงความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลก เกิดจากการไถ่บาปทางเศรษฐกิจ จากปัญหาของเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มขึ้น

เขาได้ชี้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกากับเงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ นั้นไม่เหมือนกัน โดยอสังหาในสหรัฐนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ถ้าหากภาคอสังหาชะลอตัวลงมา เงินเฟ้อก็จะชะลอตัวลงมา ขณะที่ประเทศอื่นๆ เงินเฟ้อนั้นเกิดจากราคาพลังงานและอาหาร

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาเขาชี้ว่าการจ้างงานในสหรัฐฯ มีการชะลอตัวมากขึ้น และหลายตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้นชี้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง เป็นเหตุผลทำให้เขามองว่าเป็นช่วงเวลาที่เห็นว่าเงินเฟ้อนั้นทำจุดสูงสุดแล้ว

สำหรับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน คุณสรพลมองว่าความผันผวนในตลาดหุ้นจีนที่เกิดขึ้นมาจากแรงเทขายของนักลงทุนชาวต่างชาติ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนโปลิตบูโร 7 คนของจีนนั้นเป็นการรวบอำนาจของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แม้ว่ายังไม่มีการพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจจีนในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เท่าไหร่ แต่คุณสรพลมองว่านี่เป็นโอกาสในการลงทุน หลังจากนี้ในช่วงปลายปีจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา นอกจากนี้จีนยังมี Valuation ที่ถูก และจีนยังมีโอกาสที่เปิดประเทศด้วย

ส่วนความอึมครึมของเศรษฐกิจ เกิดขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อสูงขึ้น การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจลดลง คาดว่าปีหน้าเงินเฟ้อจะลดลงแรงมาก ควรจะลงทุนในประเทศที่เงินเฟ้อเกิดจาก Supply เช่น ในประเทศไทย

คำแนะนำคือถ้าสัดส่วนการลงทุน 60% ควรจะลงทุนในหุ้นไทยไปก่อน 30% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่ตลาดต่างประเทศคือจีนกับสหรัฐฯ สัดส่วนรวมกัน 30% หุ้นจีนควรลงทุนใน A-Share และซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐ และหลังจากนี้ควรดูว่าดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (Dollar Index) จะขึ้นไปถึงจุดพีคเท่าไหร่ ถ้าพีคแล้ว เงินอาจไหลกลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ แทน

ข้อมูลจากฮั่วเซ่งเฮง


ทองคำถ้าหลุด 1,600 ดอลลาร์ อาจเข้าซื้อได้

คุณธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง ได้ชี้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ทองคำได้ทำราคาสูงสุดไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านคือค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ากลับกดดันราคาทองคำ เขามองว่าในช่วงปี 2566 น่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาซื้อทองคำได้ เนื่องจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าขึ้น แม้ว่าในปี 2566 ตลาดทองคำจะไม่หวือหวาก็ตาม

ขณะที่ปัญหาของจีน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮงมองว่า หลังจากนี้นโยบายจะเน้นเรื่องของความมั่นคงมากกว่าเศรษฐกิจ และถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงก็จะทำให้ความต้องการทองคำลดลง แต่ถ้ามองระยะถัดไปแล้ว ถ้านโยบายเศรษฐกิจจีนทำให้ประชาชนจีนเป็นชนชั้นกลางมากขึ้นก็จะทำให้การบริโภคทองคำมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ปัจจัยในการขับเคลื่อนทองคำนั้นยังคงเหมือนเดิมในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลลาร์ หรือแม้แต่การบริโภคทองคำของชาวจีน เขามองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาทองคำยังไปต่อได้

หลังจากนี้คุณธนรัชต์แนะนำให้จับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจทำให้ราคาทองคำนั้นสูงมากขึ้นได้ เนื่องจาก Dollar Index อ่อนค่าลงมา และถ้าราคาทองคำหลุด 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเริ่มเข้าซื้อทองคำได้

ข้อมูลจากคุณพิริยะ สัมพันธารักษ์


Bitcoin ถ้าหากราคาตกลงมามากๆ อาจเริ่มเก็บสะสมได้

คุณพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด ได้กล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิทัล กับกลไกลทางการเงิน เขามองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลต้องใช้เวลาเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะ Bitcoin อย่างไรก็ดีเขากลับมองว่า Bitcoin ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความปลอดภัย แต่เขามองว่า Bitcoin นั้นมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจากการพิมพ์เงินดอลลาร์ที่มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลทำให้ Bitcoin เหมือนเป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อ

เขายังชี้ว่าทุกสินทรัพย์ไม่เว้นแต่ Bitcoin นั้นสัมพันธ์กับปริมาณเงิน เมื่อเวลาผ่านไปทุกสินทรัพย์นั้นเอาไว้ป้องกันเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าดูผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่สำหรับปัญหา ตอนนี้คือเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งส่งผลทำให้เกิดแรงเทขายออกมา

ขณะที่เรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ คุณพิริยะมองว่าปลายยุคสมัยของมหาอำนาจหนึ่ง จะมีอีกมหาอำนาจหนึ่งมาท้าทายอำนาจกัน เช่น สหรัฐอเมริกากับจีน ขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศเองก็พยายามที่จะบาลานซ์อำนาจดังกล่าว เรื่องสำคัญที่เขามองคือเรื่องสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในช่วงบั้นปลายแล้ว ขณะที่ Bitcoin ก็เกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายของดอลลาร์สหรัฐ เหมือนกับช่วง The Great Reset ในการหา Global Reserve Currency และหลายธนาคารกลางกำลังเลือกทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อทองคำเป็นทุนสำรอง เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คุณพิริยะมองว่าการใช้งานของ Bitcoin เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากค่าเงินของหลายๆ ประเทศล่มสลาย ถ้าหากมามองสินทรัพย์อย่าง Bitcoin ล่าสุดราคาลงมาจากจุดสูงสุดราวๆ 70% แต่ถ้ามอง Cycle รอบละ 4 ปี นั้นมาจากการลดการผลิตลง เขามองว่าราคาของ Bitcoin จะลดลงครั้งใหญ่ๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งอาจได้เห็นกรณีที่แย่สุดอาจเหลือราคาราวๆ 10,000 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC ถ้าหากไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะสั้นมากๆ ก็ถือว่าช่วงนี้เริ่มเก็บสะสมได้แล้ว