เอกชนไทยพร้อมแล้วเป็นเจ้าภาพ ABAC 2022 ในเวทีเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เตรียมชูประเด็นคาร์บอนเครดิตต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจโลกในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผลักดันการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตแห่งแรกในเอเชีย-แปซิฟิก
ปูทางสู่อนาคตที่ดีกว่าของเอเชีย-แปซิฟิก ด้วย5 กลยุทธ์
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) เป็นภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกับสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น5 ด้าน ได้แก่ ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคด้านดิจิทัล ด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และการมีส่วนร่วม ด้านความยั่งยืนและด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อรวบรวมข้อเสนอและคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
ไทยเดินหน้าชูคาร์บอนเครดิต เสริมพลังความยั่งยืน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก หรือประมาณ 0.8% ของโลก และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ในเวทีเอเปค ภายใต้ประเด็นด้านความยั่งยืนจะมีการหารือเรื่องแผนที่นำทางการค้าและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนต่ำสู่ปีพ.ศ.2573 (The Trade and Investment in Renewable Energy and Low Carbon Emissions Technologies Roadmap Towards 2030)ซึ่งเอกชนไทยพร้อมชูประเด็นเรื่องแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตภายหลังจากที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงนามความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตและเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) แห่งแรก ร่วมกับสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะเป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (APEC Business Advisory Council-ABAC)กล่าวว่า “คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ โดยศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจะเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. ทำให้สามารถติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศได้นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate : REC ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดยั่งยืน และนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy security) ในที่สุดผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือของประเทศไทยในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศ”
เติบโตสู่การสร้างกลไกราคาคาร์บอนที่โปร่งใส ยุติธรรม และน่าเชื่อถือในระดับสากล
แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย (FTIX) นี้ นอกจากเป็นระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สามารถติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การลดการปล่อยGHG ของประเทศแล้วยังเป็นตัวสร้างระบบนิเวศสำหรับการใช้กลไกราคาคาร์บอนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าของคาร์บอนเครดิตซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความโปร่งใส ยุติธรรม และน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอนในระดับสากล รวมทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยที่พร้อมเป็นผู้นำการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตแห่งแรก
มองไปข้างหน้าเพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้นของภูมิภาค
“สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชนที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ดำเนินอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ได้สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านวิถีชีวิตของประชาชน และด้านการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ความร่วมมือระหว่างสมาชิกของ ABAC จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพราะมาจากความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกระดับ และเราพร้อมจะนำข้อเสนอและการริเริ่มการดำเนินงานต่างๆ ยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน”นายเกรียงไกรกล่าวเสริม
การเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยครั้งนี้ ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อประชากรกว่า 4.3 พันล้านคนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันภายใต้กรอบกลยุทธ์ทั้ง5 ด้าน เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของประเทศและในระดับภูมิภาค