เมื่อโลเกชั่นไม่สามารถสะท้อนถึงรสนิยมและไลฟ์สไตล์ที่แท้จริงของคนดูภาพยนตร์ กอปรกับไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากโฆษณาอย่างเป็นกอบเป็นกำ เมเจอร์ฯ จึงเตรียมผุดโมเดลโฆษณารูปแบบใหม่ๆ คิดตามฟอร์มภาพยนตร์ ใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อสร้างรายได้จากโฆษณามากขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ลูกค้าได้ชัดเจนกว่าเดิม
วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า รายได้จากค่าโฆษณายังสามารถเพิ่มได้มากกว่านี้ โดยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป จะปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วยโมเดลการคิดค่าโฆษณาใหม่ตามภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่เข้าฉาย จากปกติคิดตามนาที ตามโลเกชั่น โดยเบื้องต้นจะแบ่งเป็น แพ็กเกจบล็อกบลัสเตอร์ (ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์) และแพ็กเกจภาพยนตร์ไทย เป็นต้น โดยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอัตราและแพ็กเกจที่เหมาะสม
ทั้งนี้แพ็กเกจบล็อกบลัสเตอร์ก็จะมีอัตราค่าโฆษณามากกว่าแพ็กเกจอื่นๆ เปรียบเหมือนการซื้อ-ขายเวลาช่วงไพรม์ไทม์ของฟรีทีวีที่จะมีราคาสูงกว่าช่วงเวลาอื่น ยิ่งภาพยนตร์บล็อกบลัสเตอร์เข้าฉายมากและมีลูกค้าสนใจ นั่นหมายถึงรายได้จากโฆษณาที่จะพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยปี 2555 นี้มีภาพยนตร์ดังจ่อคิวเข้าฉายหลายเรื่อง อาทิ ดิ อเมซซิ่ง สไปเดอร์แมน เมน อิน แบล็ค 3 เดอะ ดาร์กไนท์ ไรซ์ และต้มยำกุ้ง 2 เป็นต้น
ที่สำคัญภาพยนตร์บล็อกบลัสเตอร์ส่วนใหญ่จะมีการฉายในรูปแบบของ 3D และ 4D ด้วย ยิ่งจะทำให้รายได้จากโฆษณาของเมเจอร์ฯ เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
“เป็นไอเดียที่ได้มาจากอินเดีย ซึ่งเมเจอร์ฯ ร่วมทุนโรงภาพยนตร์และโบว์ลิ่งอยู่ รายได้จากโฆษณาของเขาเยอะมาก เพราะหนังดีๆ ดังๆ หลายเรื่องของเขาฉายนานหลายเดือน”
โมเดลโฆษณาใหม่นี้ เป็นการดึงดูดให้สินค้าและบริการต่างๆ ที่อาจไม่เคยเห็นความสำคัญของโฆษณาในโรงภาพยนตร์มาก่อน ให้หันมาโฆษณามากขึ้น เขายกตัวอย่างลูกค้าอย่าง แอมเวย์ ซึ่งไม่เคยปันงบมาโฆษณาในโรงภาพยนตร์เลย แต่กลับเลือกที่จะโฆษณาภาพยนตร์ดังอย่างแฮรี่ พอตเตอร์ 7.2 เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และครอบครัว โดยทุกคนที่ดูภาพยนตร์แฮรี่ พอตเตอร์ ในโรงภาพยนตร์ของเครือเมเจอร์ฯ ทุกโรง ทุกโลเกชั่นก็จะได้ชมโฆษณาของแอมเวย์
“การคิดบริการโฆษณารูปแบบใหม่นี้จะทำให้ เมเจอร์ฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้าก็จะสามารถโฆษณาเข้าถึงและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และไลฟสไตล์ได้แม่นยำมากขึ้น”
ขณะที่รูปแบบ ซึ่งการคิดโฆษณาจากโลเกชั่นก็จะยังคงอยู่เพียงแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจให้สอดรับกับเป้าหมายของเมเจอร์ฯ มากขึ้น เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายชอบภาพยนตร์ไทย ก็เลือกโฆษณาเฉพาะภาพยนตร์ไทย
ทั้งนี้รายได้จากค่าโฆษณาคิดเป็นอันดับ 3 ของเมเจอร์ฯ รองจากรายได้จากค่าตั๋วภาพยนตร์ และธุรกิจจัดจำหน่ายภาพยนตร์เมื่อปี 2553 ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 12% หรือ 694 ล้านบาท ส่วนในไตรมาส 2ของปี 2554 มีรายได้จากค่าโฆษณา 189 ล้านบาทแต่มีอัตราการเติบโต 8% ขณะที่รายได้จากค่าตั๋วเติบโต 66% คิดเป็น 1,326 ล้านบาท