นักบินขาดแคลน! มากกว่า 40 ประเทศเริ่มขอหน่วยงานกำกับดูแลให้นักบินสามารถบินคนเดียวได้

ภาพจาก Shutterstock

หลายสายการบิน รวมถึงหน่วยงานการบินมากกว่า 40 ประเทศได้เริ่มสอบถามไปยังสหประชาชาติซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน รวมถึงสหภาพยุโรป ในเรื่องที่ต้องการให้นักบินสามารถทำการบินได้เพียงคนเดียว หลังจากที่นักบินในหลายประเทศเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก

ประเทศต่างๆ มากกว่า 40 ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ เยอรมัน หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้มีการออกมาตรฐานที่จะทำให้นักบินสามารถที่จะนำเครื่องบินโดยสารบินสู่เป้าหมายโดยใช้นักบินคนเดียวได้ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันนั้นมีการใช้นักบินขั้นต่ำคือ 2 รายในแต่ละเที่ยวบิน

โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลการบินของสหภาพยุโรปเตรียมที่จะออกเกณฑ์สำหรับสายการบินที่ต้องการใช้นักบินเพียงคนเดียวภายในปี 2027

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดแรงกดดันจากหลายประเทศ รวมถึงหลากหลายสายการบินเนื่องจากก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นจุดพีคของอุตสาหกรรมการบินนั้น ปริมาณของนักบินทั่วโลกถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้เที่ยวบินจะลดลง แต่ปริมาณนักบินก็ลดลงเช่นกัน ขณะเดียวกันก็มีความยากในการสอบเป็นนักบิน ซึ่งทำให้ปริมาณนักบินเข้ามาในแต่ละปีลดลง

ในยุค 1950 ในช่วงการบินเริ่มต้นนั้น มีการใช้นักบินมากกว่า 3 ราย ไม่ว่าจะเป็นกัปตัน ผู้ช่วยกัปตัน ผู้นำทาง รวมไปถึงวิศวกรประจำเครื่องบิน ผลที่เกิดขึ้นทำให้ห้องนักบินเกิดความวุ่นวายไม่น้อย ก่อนที่เทคโนโลยีจะทำให้เครื่องบินรุ่นใหม่ใช้นักบินน้อยลงเรื่อยๆ เหมือนกับในปัจจุบัน

จากการวิเคราะห์เมื่อเดือนสิงหาคมโดย Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ได้ชี้ว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมการบินใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ในปีนี้นั้นมีนักบินขาดแคลนมากถึง 8,000 ตำแหน่ง และบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการรายดังกล่าวนี้คาดว่าสหรัฐจะขาดแคลนนักบินมากถึง 29,000 ตำแหน่งในช่วง 10 ปีต่อจากนี้

อย่างไรก็ดีในเรื่องดังกล่าวนี้หลายคนอาจไม่ชอบใจมากนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารที่มองถึงประเด็นด้านความปลอดภัย รวมถึงนักบินของสายการบินอย่าง Tony Lucas ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าถ้าหากเที่ยวบินดังกล่าวบินด้วยนักบินคนเดียว เมื่อทุกอย่างผิดพลาดขึ้นมา จะเป็นเรื่องที่ไวและแก้ไขในภายหลังได้ยาก และสิ่งที่ตามมาอาจคือหายนะได้

ที่มา – Bloomberg, CNBC