‘เจพีมอร์แกน’ ชี้ตลาดอาเซียนปีหน้าเหมือนเล่น ‘บันจี้จัมพ์’ ดิ่งลึกช่วงแรกก่อนจะพุ่งขึ้นครึ่งหลัง

Photo : Shutterstock
นักวิเคราะห์ของ เจพี มอร์แกน (JPMorgan) มองว่า ในปี 2566 ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับ “การกระโดดบันจี้จัมพ์” โดยครึ่งปีแรกจะดิ่ง ก่อนที่จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

Rajiv Batra นักวิเคราะห์ของ JPMorgan เปิดเผยว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีหน้าจะ ร่วงลงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะพุ่งสูงอย่างเร็วและจะลดลงอีกครั้ง จนกระทั่งในที่สุดตลาดจะหยุดอยู่ที่ระดับต่ำสุด โดยปัจจัยมาจาก กำลังซื้อที่ลดลง เนื่องจากการคุมเข้มนโยบายการเงิน การออมที่ลดลง และ ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น

JPMorgan คาดว่าดัชนี MSCI ASEAN ซึ่งรวมหุ้นในประเทศในอาเซียนจะลดลง 22% จากระดับสูงสุดของเดือนกุมภาพันธ์สู่ระดับต่ำสุดของปีในเดือนตุลาคม จากนั้นดัชนีดีดตัวขึ้น 10% ในเวลาต่อมา โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่จีนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง และแรงหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ

โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะสูงถึง 5% ภายในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ประเทศที่เน้นการค้าเป็นหลัก เช่น สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเติบโตทั่วโลกที่ช้าลงและความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคคงทนที่ลดลง

ตัวอย่าง เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอย่างมาก โดยเฉพาะในการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการผลิต โดยนักวิเคราะห์ของ JPMorgan ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของปี 2566 จาก 3.3% เป็น 2.7%

ในส่วนของการคาดการณ์ว่า จีน จะผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องโควิดก็อาจช่วยไม่ได้มากนัก แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจีนจะเป็น ตัวกระตุ้นเชิงบวก ต่อเศรษฐกิจ อาทิ สิงคโปร์ที่ในปี 2562 มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนถึง 20% ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวเหล่านี้อาจสร้างผลกระทบต่อการบริโภคและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่นเดียวกันกับ ไทย ที่นักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มศักยภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่นั่นอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ

“มีข้อโต้แย้งว่าการเปิดพรมแดนใหม่เร็วกว่าที่คาดของจีนนั้นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าการท่องเที่ยวอาจกระตุ้นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและการบริโภค แต่ก็จะเร่งภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากอุปสงค์ที่อั้นมาเป็นเวลานานในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว”

Source