บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เปิดตัวห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ แห่งแรกที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดย ห้องแลปเดลต้า Power E แห่งใหม่นี้ ตั้งอยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
ห้องแลปเดลต้า Power E เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัทที่มีความสำคัญในประเทศไทย รวมถึงพันธมิตรอื่นๆ เพื่อช่วยยกระดับทักษะทางเทคนิคให้แก่นักศึกษาที่มีความสามารถด้านวิศกรรม พร้อมทั้งช่วยให้นักศึกษาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ล่าสุดและเทคโนโลยีขั้นสูงได้
ห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ไทย ด้วยอุปกรณ์ในการทดสอบที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพื่อใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังและฝึกฝนทักษะขั้นสูงให้กับพวกเขา อีกทั้งยังเป็นศูนย์ความร่วมมือและนวัตกรรมด้านวิชาการอุตสาหกรรมของไทยสำหรับกิจกรรมการทำวิจัยในท้องถิ่นที่ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันความรู้และแนวคิดระหว่างเดลต้าและมจพ.
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พร้อมด้วย ดร.สมฤกษ์ จันทราอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. และนายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า ประเทศไทยร่วมกันเปิดห้องแลปเดลต้า Power E แห่งใหม่อย่างเป็นทางการ
นายแจ็คกี้ จาง กล่าวในพิธีเปิดว่า “เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เราได้ลงทุนสร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนารวมถึงโรงงานการผลิตระดับโลก ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมผู้ที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมในท้องถิ่นของประเทศ เราพัฒนาและผลิตพาวเวอร์ซัพพลายที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดอันเป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับลูกค้าทั่วโลกของเรา ห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของเดลต้าต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในการเพิ่มผู้ที่มีความสามารถในท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบชีวภาพและภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ”
ก่อนหน้านี้ เดลต้าได้ร่วมมือกับมจพ. ในฐานะพันธมิตรในโครงการเดลต้า ออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) และร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยบูรพา
นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ไทยประมาณ 3,000 คนและคณะอาจารย์กว่า 30 คนได้เข้ารับการฝึกอบรมกับโครงการ Delta Automation Academy และทีมนักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขัน International Delta Advanced Automation ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศจีน