วิสัยทัศน์ ‘ธรรมศาสตร์ 2023’ สร้างแพลตฟอร์ม-หลักสูตรใหม่ มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานแถลงข่าว TU-Toward 2023 World-Class University “วิสัยทัศน์ธรรมศาสตร์ 2023 มุ่งสู่วิทยาการมาตรฐานโลก” เมื่อวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตอกย้ำนโยบายการเป็นผู้นำสถาบันอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์อนาคตและมุ่งสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยของไทยที่ติด Universal Ranking อันดับสูงในระดับโลก

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “Next Step : แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 13” ว่า มาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการพัฒนาศักยภาพต่อเนื่องทุกปี ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่ล้ำสมัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำหลักสูตรออนไลน์บริหารธุรกิจ (M.B.A) ระดับปริญญาโทแบบ 100% มีนักศึกษา 1,700 คน และผู้สมัครเรียนรู้อีกนับหมื่นคน สร้างงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจัดอันดับระดับโลกด้าน Impact of Education อันดับ 1 ของประเทศไทยในการจัดการและคุณภาพการศึกษา ด้านการเมือง นโยบายสังคม กฎหมาย และศิษย์เก่ามีบทบาทในภาคการศึกษา จาก QS World University Rankings: Sustainability 2023 โดย Quacquarelli Symonds (QS) สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเชื่อถือระดับนานาชาติของประเทศอังกฤษ

“ธรรมศาสตร์มีเป้าหมายผลักดันอันดับ University Ranking ของเราสูงขึ้นอีกในอนาคต เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติต่อเนื่องสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งดูแลสังคม ประชาชน และสิ่งแวดล้อม สร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์โลกอนาคต และสร้างงานวิจัยมีคุณภาพระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น”

ยกระดับหลักสูตรออนไลน์-เปิดกว้างรับนักศึกษา CLMV

รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ มธ. กล่าวในหัวข้อ “Metaverse Campus : มหาวิทยาลัยแห่งวิทยาการที่ไร้พรมแดน” ว่า ธรรมศาสตร์กำลังก้าวสู่ World-Class University ด้วยรูปแบบการศึกษาที่หลากหลายแพลตฟอร์ม เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงนักศึกษา ประชาชน และภาคเอกชน ร่วมยกระดับองค์ความรู้ ประกอบด้วย 1. TU NEXT e-learning แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล 2.ThammasatMetaverse Campus เปรียบเสมือนวิทยาเขตแห่งที่ 5 ของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในโลกเสมือนจริงจะเปิดดำเนินการภายใน 3-6 เดือนนี้ 3. ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Valley ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และ 4. โครงการ 88 Sandbox Spaces พื้นที่ต้นแบบในการสร้างสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ ได้รับความสนใจจากประเทศเกาหลีใต้และกัมพูชา

นอกจากนั้น มีการปรับปรุงพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นนานาชาติ และพื้นที่ Co-Working Space ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ คนไทย ต่างประเทศ และชุมชน ในส่วนตึกโดมถือเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้รับงบประมาณปรับปรุงเสริมความแข็งแรงฐานรากและภายในอาคารให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ส่วนรอบนอกจะคงสภาพเหมือนเดิมไว้ทั้งหมด

รศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเพิ่ม Fulltime International Student เรียนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพิ่มความร่วมมือในการรับนักเรียนมัธยมปลายจากประเทศเพื่อนบ้าน มีระบบการเทียบวุฒิกับประเทศพม่าจะช่วยให้ประเทศกลุ่ม CLMV มาเรียนได้ง่ายขึ้น หรือการเทียบกับระบบ TCAS เข้ามหาวิทยาลัยของจีน หรือ “เกาเข่า” เป็นต้น นอกจากนั้นยังร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เรื่องสนับสนุนทุนการศึกษา

ร่วมมือภาคเอกชนชั้นนำพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่

ศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวในหัวข้อ “Megatrend 2023 : ทิศทางหลักสูตรใหม่เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต” ว่า ปัจจุบันระบบการเรียนของคนรุ่นใหม่จะเน้น Anytime Anywhere Any Device เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนซ้ำ เรียนจนเข้าใจถ่องแท้และเปิดกว้างให้คนนอกเรียนได้เพิ่มทักษะตลอดเวลา นักศึกษาในยุคนี้จะไม่เรียนรู้ศาสตร์เดียวแต่ต้องเรียนข้ามศาสตร์ เป็นปัจจัยทำให้การดำรงชีวิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีความร่วมมือกับเอกชน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ไอบีเอ็ม มาร่วมสร้างโปรแกรมให้นักศึกษามีทักษะและประสบการณ์ในการเป็นประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

ปัจจุบัน มธ.ยังมีแพลตฟอร์ม TU NEXT e-learning เรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล เปิดโอกาสให้ทุกคนเลือกเรียนเรื่องที่สนใจและได้ประกาศนียบัตรในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Certificate) และความร่วมมือกับ SkillLane แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ เปิด TUXSA (ทักษะ) หลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ด้านบริหารธุรกิจสาขา Business Innovation และ Data Science for Digital Business Transformation รวมถึงหลักสูตร Applied AI

เริ่มแล้ว Medical Valley พัทยากว่า 300 ไร่

รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา มธ. กล่าวในหัวข้อ “Medical Valley : นับถอยหลังสู่ศูนย์กลางภูมิปัญญาทางการแพทย์” ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยาได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการเป็น Medical Valley แห่งแรกของประเทศไทย จากทั่วโลกซึ่งมีอยู่เพียง 8-9 แห่ง โดยเรามุ่งเน้นพัฒนา 2 ส่วนหลักๆ คือกลุ่ม HealthTech และ การรักษาพยาบาล

การพัฒนาพื้นที่ขณะนี้ ได้เริ่มการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ในส่วนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา (Digital Hospital) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) สมาร์ทซิตี้ (Smart City) และสมาร์ทแคมปัส (Smart Campus) ครบวงจรสมบูรณ์แบบ

“ในด้านการศึกษาจะเป็น Future Campus เชื่อมวิชาการและ Metaverse สร้างการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล เป็น Paperless Education ส่วนโรงพยาบาลมีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มความสะดวกในการให้บริการ เช่น แอปพลิเคชันบันทึกประวัติข้อมูลคนไข้ การรักษาผ่านระบบทางไกล สร้าง Healthcare Volunteer หรือ อสม.อัจฉริยะ ส่งผ่านข้อมูลชุมชนต่างๆ และการออกแบบรักษาเฉพาะตัวบุคคล เป็นต้น”

ล่าสุด พื้นที่ EECmd มีภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุน Medical Valley แล้วประมาณ 300 ไร่ อาทิ บริษัท บีกริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้า, บริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ Health Resort

ส่วนโครงการ Health Tech (Med Park) Startup Medical Technology ดำเนินการโดย บริษัท วัน จีโนม เอเชีย จำกัด, บริษัท ฮอริบา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท TEAM Group จำกัด, โครงการ Sport Complex ครอบคลุมพื้นที่ 51 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท สยามกลการ จำกัด และ โครงการศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดำเนินการโดย บริษัท ภูฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สำหรับ โครงการ Senior Living จำนวน 50 ไร่ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนารวมถึงโครงการสร้างโรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น

ทั้งหมดคือวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่พร้อมก้าวไปสู่ปี 2023 ซึ่งโลกใบนี้เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย พร้อมบทบาทขับเคลื่อน นวัตกรรม เศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งจะต่อยอดวิชาการความรู้มุ่งไปสู่ความสำเร็จระดับโลกได้ในอนาคต