เมื่อโลกแห่งธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับโลกยิ่งขึ้น ในมิติของการดำเนินธุรกิจซึ่งเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ (VUCA: Volatility, Uncertainty, Complexity,Ambiguity) ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงต้องพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริษัทพลังงานที่ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ อย่าง บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หัวใจสำคัญที่จะนำพาองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ตอบรับกับความต้องการด้านพลังงานแห่งโลกอนาคตก็คือ “ทีมงานที่แข็งแกร่ง” ที่พร้อมก้าวเดินตามกลยุทธ์ “Greener & Smarter” เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพอย่างยั่งยืนให้กับผู้คน ความทุ่มเทของทีมงานมืออาชีพคือฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของ BPP มุ่งไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีความชาญฉลาดขึ้น และสร้างผลตอบแทนได้อย่างมั่นคงไม่ว่าจะเผชิญความท้าทายรูปแบบใดตั้งแต่การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีพลังงาน การแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, Governance) หรือหลัก ESG เพราะเป้าหมายของ BPP ไม่ใช่แค่การเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระยะยาว
ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้ารวมถึงการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีพลังงาน ประกาย หยกน้ำเงิน Vice President – Business & Market Development ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน สามารถบอกเล่าเรื่องราวนี้ได้อย่างดีประกายคร่ำหวอดในแวดวงพลังงานมาเกือบ 2 ทศวรรษ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของ BPP ในประเทศจีน ไปสู่โรงไฟฟ้าที่ทั้ง Greener และ Smarterโดยใช้เทคโนโลยี High Efficiency, Low Emissions (HELE) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “เรื่องการใช้เชื้อเพลิง เราใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก อธิบายง่าย ๆ ว่า โรงไฟฟ้าทั่วไปเวลาจ่ายไฟ จะมีเชื้อเพลิงที่สามารถเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้ราว 40%ส่วนเชื้อเพลิงอีกราว 60% สูญไป แต่โรงไฟฟ้าของเราสามารถนำเชื้อเพลิงที่เหลือมาจ่ายเป็นพลังงานความร้อนให้กับชุมชนและนำกลับมาใช้ในโรงงานได้อีกนอกจากนี้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของเราก็สามารถปล่อยมลสารได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานของทางการค่อนข้างมาก อาทิ ที่โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง ทางการจีนกำหนดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ไว้ที่ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเราสามารถทำได้ที่ระดับ 18มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้นำเทคโนโลยี HELE มาพัฒนาโรงไฟฟ้าของเราในจีน ทำให้ได้รับคำชมเชยและความไว้วางใจจากรัฐบาลท้องถิ่นให้พัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับชุมชนในเมืองเจิ้งติ้ง ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน”
โครงการพัฒนาโซลาร์รูฟท็อปให้กับชุมชนในเมืองเจิ้งติ้ง (Zhengding) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) นี่เองที่ทำให้ทีมงานของประกายได้แสดงความมุ่งมั่นของ BPP ในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีพลังงานอย่างเต็มที่ โดยวางเป้าหมายกำลังการผลิต 167 เมกะวัตต์ภายในปี2566 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 58 เมกะวัตต์นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดโครงการโซลาร์รูฟท็อปโดยนำไปผนวกกับเทคโนโลยีพลังงานอื่นจากการใช้แผงโซลาร์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องปรับอากาศประเภท air source heat pump โดยเครื่องจะเปลี่ยนความร้อนจากอากาศมาเป็นพลังงานความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะกับการใช้งาน ทำให้การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์อยู่เสมอในฤดูหนาวเครื่องนี้จะดึงความร้อนจากอากาศภายนอกมาเป็นความอบอุ่นภายในอาคาร และหากเป็นฤดูร้อน เครื่องนี้จะนำความร้อนจากอากาศภายในอาคารออกไปสู่ภายนอก ประกายเล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อยอดเทคโนโลยีพลังงาน คือ โครงการเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิง (Biocoal) ที่สามารถเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ได้ในโรงไฟฟ้าทั่วไป ช่วยลดปัญหาขยะล้นเมืองและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีพลังงาน ต่างก็ช่วยสร้างความ Greener & Smarter ให้กับพอร์ตธุรกิจของ BPP และที่สำคัญคือสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ อีกด้านที่ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อเร่งสร้างการผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพคือการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพและตอบโจทย์กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเฉพาะในพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียน นิธินรรถ เอกะพันธุ Manager กำลังสำคัญของทีม Business Development ด้าน Energy Generation and Trading ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแสวงหาโอกาสด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนามและออสเตรเลีย เล่าให้ฟังถึงการมองเห็นโอกาสในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจในการลงทุนของ BPP ในโครงการใหม่ ๆ “หน้าที่ของเราคือการแสวงหา พิจารณาความเป็นไปได้ และดำเนินการเข้าซื้อโครงการที่มีศักยภาพที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter ของ BPP สำหรับประเทศเวียดนามความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การผลิตไฟฟ้ากลับยังไม่เพียงพอ ประกอบกับภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่กว้างขวาง และมีแสงอาทิตย์ที่เอื้ออำนวยอีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน นี่จึงเป็นโอกาสของ BPP ในการเข้าไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์”
สำหรับประเทศออสเตรเลีย นิธินรรถเล่าว่า ออสเตรเลียก็ขึ้นชื่อเรื่องพื้นที่กว้างใหญ่ไม่แพ้กับเวียดนามและมีศักยภาพด้านทรัพยากรแสงแดดและลม รัฐบาลท้องถิ่นก็มีการตั้งเป้าหมายและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง อีกทั้งผู้บริโภคก็มีความพร้อมในการเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนในตลาดไฟฟ้าเสรี (Merchant Power Market) จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุนของ BPP “ในปี 2564 เราได้เข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl) และมานิลดรา (Manildra) ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ประเทศออสเตรเลีย นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ” นิธินรรถกล่าวและเสริมว่า “งานของผมมีความท้าทายมากแต่ก็รู้สึกสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา และได้สร้างผลงานที่มีคุณค่าให้กับองค์กร หากเปรียบเป็นร่างกาย งานของผมคงเป็นดวงตาและหูที่ต้องคอยเปิดรับเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงค้นหาโอกาสทางธุรกิจที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ BPP เติบโตได้ตามเป้าหมาย”
เมื่อโรงไฟฟ้าดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีด้านพลังงานก้าวไปอย่างไม่หยุดนิ่งพร้อม ๆ กับการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ อยู่เสมอ BPP ก็พร้อมแล้วที่จะสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าจุดหมายของ BPP ไม่ใช่แค่การเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืนขึ้น ทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจของBPP จึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment, Social, Governance) หรือหลัก ESG เป็นสำคัญ ศนิชา ภิญโญชีพ Manager – Health, Safety, Environment and Community Engagement ผู้สอดส่องดูแลการดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องกับหลัก ESG เล่าว่างานของเธอมีส่วนช่วยผลักดันให้ทุกหน่วยงานในองค์กรนำหลัก ESG มาใช้ในดำเนินงานตั้งแต่การวางนโนบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG การติดตามผลการดำเนินงาน การจัดทำรายงาน การแบ่งปันข้อมูลภายในองค์กร และการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ
“หากเปรียบเทียบหลัก ESG เป็นร่างกาย ก็คงเปรียบ G เสมือนเป็นกระดูก เป็นโครงสร้างขององค์กร ขณะที่ E และ S เป็นเลือดเนื้อ เป็นสิ่งที่เราต้องบำรุงรักษาให้ดีอยู่เสมอเพื่อให้ภาพรวมเป็นไปตามความคาดหวังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน” ศนิชากล่าว และเล่าว่าสำหรับด้าน E: Environment งานของเธอช่วยผลักดันการตั้งเป้าหมายของแต่ละโรงไฟฟ้าในการลดมลสารต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น นโยบายการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ นโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ ในด้าน S: Social เธอช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายการดูแลความปลอดภัยของพนักงาน การพัฒนาศักยภาพ และการส่งเสริมให้มีมาตรฐานการทำงานที่ดี รวมถึงการสื่อสารกับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน จนถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับชุมชน และด้าน G: Governance เธอจะช่วยสอดส่องว่าแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้วหรือไม่และนำเสนอข้อมูลกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ อย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กร
กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ กล่าวสรุปว่า “การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพของ BPP เกิดจากการทำงานอย่างทุ่มเทของพนักงานในทุกส่วน ตั้งแต่การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีพลังงาน การแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ผมเชื่อว่าเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter เป็นความท้าทายที่ทีมงานของ BPP มีพลังในการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ เพราะรู้ว่าจุดหมายของเราไม่ใช่แค่การเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพให้กับผู้คน และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม”