รัฐบาลจีนได้เข้าถือหุ้นบริษัทเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Alibaba และ Tencent ผ่านกลไก Golden Shares ที่ถือหุ้นสัดส่วนราวๆ 1% แต่มีสิทธิ์สามารถควบคุมทิศทางของบริษัทเหล่านี้ว่าจะไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางที่รัฐบาลจีนได้วางไว้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนำมาใช้หลังจากรัฐบาลเข้ามาปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
สื่อต่างประเทศทั้ง Reuters และ Bloomberg รวมถึง Financial Times ได้รายงานข่าวว่ารัฐบาลจีนได้เข้าถือครองหุ้นของ Alibaba รวมถึง Tencent ผ่านกลไก Golden Shares ซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนในการถือหุ้นบริษัทเหล่านี้ราวๆ 1% แต่มีสิทธิ์ในการควบคุมทิศทางของบริษัทเหล่านี้ว่าจะไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางที่รัฐบาลจีนได้วางไว้
สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลจีนเข้ามาถือหุ้นส่วนน้อยแทนการควบคุมเนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐบาลได้เข้ามาปราบปราม รวมถึงปรับบริษัทเทคโนโลยีเป็นเงินมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Alibaba ที่โดนปรับมากถึง 86,000 ล้านบาท (ในช่วงเวลานั้น) หรือแม้แต่คู่แข่งอย่าง Tencent เองก็โดนปรับเช่นกัน
การเข้ามาปราบปรามกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มการศึกษาออนไลน์ ไปจนถึงภาคส่วนอื่นๆ ของรัฐบาลจีนได้ส่งผลเสียมหาศาลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นด้วย ทำให้มูลค่าบริษัทในตลาดหุ้นจีนหายไปไม่น้อยกว่า 40% นับตั้งแต่มีการเข้าปราบปราม
การใช้กลไก Golden Shares ของจีนนั้นได้เริ่มต้นมาตั้งแต่การเข้าถือหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีจีนในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Weibo ไปจนถึงบริษัทแม่ของ TikTok อย่าง ByteDance โดยหน่วยงานกำกับดูแลบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) จะตั้งกองทุนเอาไว้ถือหุ้นบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสื่อที่รัฐบาลจีนนี้ออกกฎหมายโดยใช้กลไก Golden Shares ในปี 2016 มาเพื่อควบคุมสื่อมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในกรณีของ Alibaba นั้นรัฐวิสาหกิจของจีนหลายแห่งเองก็ได้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกลไก Golden Shares ของบริษัทไม่ว่าจะเป็น China Mobile เครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่สุดของจีน CITIC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังจีนถือหุ้น หรือแม้แต่ China Post