ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ทั่วโลกต่างงัดแผนทยอยยกเลิกสินค้าที่ขายไม่ดี และเพิ่มราคาสินค้าขายดี โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ตามมาหลังจากที่สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ รวมถึงความกังวลสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สำนักข่าว Reuters ได้รายงานถึงสถานการณ์ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังพบกับสภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดแค่กับในมุมผู้บริโภคเท่านั้น แต่บริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ก็พบกับปัญหาดังกล่าวด้วย
ผู้ผลิตสินค้าหลายรายอย่าง Kraft Heinz และ Conagra Brands หรือแม้แต่ Mondelez เริ่มที่จะทยอยยกเลิกการผลิตสินค้าที่มียอดขายไม่ดีออกจากไลน์สินค้าของบริษัท โดยการยกเลิกสินค้าดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วอาจช่วยบริษัทเหล่านี้ประหยัดได้มากถึงหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้บริหารของ Mondelez ที่ผลิตสินค้าประเภทคุกกี้ ช็อกโกแลต ฯลฯ ได้กล่าวถึงการยกเลิกสินค้าที่ยอดขายไม่ดีว่า เนื่องจากบริษัทมีสินค้าหลากหลายมากเกินไป ขณะที่ผู้บริหารของ Heinz ซึ่งผลิตซอสมะเขือเทศ หรือแม้แต่มายองเนส ได้กล่าวว่านโยบายยกเลิกสินค้าที่ขายไม่ดีถือว่าเป็นทางเลือกของบริษัท
ไม่เว้นแม้แต่ Kellogg ผู้ผลิตซีเรียลธัญญาหารรายใหญ่ก็เลิกผลิตสินค้ากลุ่ม Special K Protein Shakes เนื่องจากยอดขายที่ไม่ดี
นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้าหลายรายยังกล่าวว่าแม้การผลิตสินค้าที่ขายไม่ดีออกมานั้นยังไม่ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการขึ้นราคาสินค้าเหล่านี้ เนื่องจากยอดขายที่ไม่ดี ซึ่งถ้าหากมีการขึ้นราคาก็มีความเสี่ยงว่าจะทำให้ยอดขายลดลง
ตรงกันข้ามกับสินค้าที่ขายดี บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องงัดกลยุทธ์มาใช้ในปีนี้เนื่องจากปัญหาของเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้มีความกังวลในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีโอกาสจะถดถอยสูงด้วย
นโยบายดังกล่าวนี้แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nestle รวมถึง Unilever สองผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ก็ยังได้นำนโยบายดังกล่าวไปใช้ และสามารถประหยัดเงินไปได้ถึงหลักพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงที่ผ่านมา