เจาะลึก 5 กรณีศึกษาจากคอร์ส LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา หลักสูตรปั้นแบรนด์ SMEs ให้ ‘สเกล’ ได้จริง


หลายครั้งที่ผู้ประกอบการระดับ SMEs เผชิญกับ ‘กำแพง’ ในการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นอีกขั้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการศูนย์การค้าอย่าง “เซ็นทรัลพัฒนา” ก็เริ่มเล็งเห็นความจำเป็นของการผลักดันนักธุรกิจดาวรุ่งให้เติบโตไปกับศูนย์ฯ หลักสูตร “LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา” จึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของ SMEs โดยปีล่าสุดเป็นรุ่นที่ 4 ที่ผ่านการอบรม และเป็นกรณีศึกษาแบบเจาะลึกว่าคอร์สนี้ช่วยติดสปีดเร่งการ ‘สเกล’ ได้อย่างไร

“เรียนจริง ทำจริง โตจริง” คือนิยามของ LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา ที่ล่าสุดเรียนจบเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว พร้อมโซว์ศักยภาพการ ‘สเกล’ ธุรกิจของตนเองหลังผ่านหลักสูตรเข้มข้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน

หลักสูตร LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา นั้นแตกต่างจากหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการทั่วไปเพราะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้หลักสูตรมีทรัพยากรทั้งสถานที่และบุคลากรจาก เซ็นทรัลพัฒนา มาช่วยในการเรียนรู้ ให้โอกาสกับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม และมี passion ในการทำธุรกิจ เพราะวัตถุประสงค์ต้องการจะเป็น ‘Incubator’ ช่วยติดสปีดแบรนด์ดาวรุ่งให้ขยายไปได้อีกขั้นและเป็นการขยายผ่านพื้นที่ศูนย์การค้า

มีบทพิสูจน์จาก 3 รุ่นแรกมีแบรนด์ที่ผ่าน LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา แล้วสามารถขยายไปในระดับประเทศได้ เช่น Fresh Me, Gentlewomen, With it Store, Ravipa, Moshi Moshi, Salad Factory, Beautrium ฯลฯ ยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าหลักสูตรนี้ ‘ไม่ได้มาเล่นๆ’

(ที่ 4 จากขวาแถวบน) ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา และ (ที่ 4 จากซ้ายแถวบน) ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ นักปั้นธุรกิจชั้นนำและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจค้าปลีก

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา อธิบายถึงที่มาของหลักสูตร LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุน SMEs ให้เข้ามาเปิดธุรกิจในศูนย์การค้ามากขึ้น และขยายตัวไปด้วยกันได้ โดยตั้งเป้าหมายปรับพื้นที่ 10% ของพื้นที่ศูนย์ฯ ให้เป็นพื้นที่เช่าโดย SMEs รายใหม่

“เมื่อก่อนเรามักจะชอบติดต่อผู้ประกอบการเดิมๆ มาลงพื้นที่เช่าเพราะเราก็รู้ฝีมือกันอยู่ แต่นั่นก็ทำให้ศูนย์ฯ เรามีแต่ร้านเดิมๆ ด้วยเหมือนกัน” ดร.ณัฐกิตต์กล่าว “ดังนั้น การเปิดหลักสูตรนี้จึงมีเป้าหมายสูงสุดของเราคือสนับสนุนให้ SMEs เติบโต”

LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา ได้รับเกียรติจาก ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ นักปั้นธุรกิจชั้นนำและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจค้าปลีก ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการอบรม โดย ผศ.ปิติพีร์ อธิบายถึงหลักสูตรนี้ว่า เป็นหลักสูตรที่เน้นภาคปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่การนำเสนอเคสธุรกิจ โดยเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัด pop-up store ให้ในศูนย์การค้าของเครือ เพื่อให้ผู้เรียนทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ทันที จนหลายแบรนด์สเกลธุรกิจได้เรียบร้อยก่อนจบหลักสูตร ไม่ต้องรอลงมือทำหลังเรียนจบ

“pop-up store คือพื้นที่ให้ได้ทำจริง วัดผลสำเร็จด้วยการทำยอดขายจริง และมีการแก้ไขโมเดลธุรกิจกันตลอดระหว่างหลักสูตร ผ่านการแนะนำของอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาร่วมเป็นที่ปรึกษาจากเซ็นทรัลกรุ๊ป และเพื่อนร่วมเรียน” ผศ.ปิติพีร์ กล่าว “หลักสูตรนี้ยังรวมนักเรียนที่เป็นผู้ประกอบการตัวจริงที่ทำให้ได้ช่วยกันคิด อาจมีการคอลแลปสินค้า เมื่อได้ทำงานร่วมกันจริงจึงเกิดความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมธุรกิจที่ยั่งยืนมากกว่าการสังสรรค์ทั่วไป”

โดยรุ่นล่าสุดเป็นการอบรบรุ่นที่ 4 มี 5 แบรนด์ที่ได้รับรางวัลประจำรุ่นจากการสร้างโมเดลธุรกิจที่โดดเด่น เป็นกรณีศึกษาว่า LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา สามารถเป็นหลักสูตร ‘Gateway to Success’ ได้อย่างไร


“ซาลาเปาโกอ้วน” สเกลด้วยการแตกแบรนด์ใหม่ “ชงดี”

เริ่มที่แบรนด์ “ซาลาเปาโกอ้วน” ร้านดั้งเดิมจากหาดใหญ่ที่ขยายเข้ามากรุงเทพฯ ในยุคของ “สุรีย์พร พูนศักดิ์ไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกอ้วน ซาลาเปา แอนด์ ที จำกัด และ บริษัท ชงดีพูนผล จำกัด โดยร้านซาลาเปาโกอ้วนเริ่มจากเปิดร้านสาขาของตนเองก่อนเปิดขายในรูปแบบแฟรนไชส์ จนปัจจุบันมี 20 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

“แต่พอมาถึงจุดที่เริ่มจะนิ่ง เริ่มขยายสาขาใหม่ไม่ได้ เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะขยายธุรกิจได้ต่อ” สุรีย์พรอธิบายโจทย์ก่อนจะเข้าร่วมคอร์ส LEAD โดยช่วงก่อนจะร่วมหลักสูตร สุรีย์พรมองสินค้าในร้านตัวหนึ่งที่ขายดีพอควรคือ “ชาเย็น” ซึ่งเป็นชาสูตรทางใต้ มีรสเข้มเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าร้านควรดันสินค้านี้ขึ้นมาเป็นสินค้าหลักคู่กับ “ซาลาเปาทอด” ในร้านเดิม หรือแตกแบรนด์ใหม่ที่เน้นเครื่องดื่มโดยเฉพาะ

“พอเข้ามาทดลองโมเดลธุรกิจในคอร์ส LEAD ทำให้เราตัดสินใจได้ จากการทดลอง pop-up store และคำแนะนำว่าถ้าจะขายเครื่องดื่มเป็นหลัก เราต้องแยกแบรนด์ออกไปเลย ทำให้เกิดเป็นร้าน ‘โรงชาชงดี’ ขึ้น ลักษณะเป็นคาเฟ่ที่เน้นขายเครื่องดื่มและนั่งทานในร้านได้ ปัจจุบันมีเปิดแล้ว 1 สาขาที่ เดอะ เซอร์เคิล ราชพฤกษ์”

แผนในปีนี้สุรีย์พรจะขยายร้านชงดีไปให้ครบ 5 สาขา โดยทดลองรูปแบบร้านหลายลักษณะ ก่อนจะนำแบบร้านที่ดีที่สุดมาเปิดแฟรนไชส์ต่อไป


Nineties Design พลิกมุมคิดปรับแบรนด์ใหม่ให้ตรงกับทำเล

อีกหนึ่งแบรนด์ที่มาด้วยโจทย์เดียวกันคือเริ่มขยายสาขาใหม่ไม่ได้ แต่เกิดขึ้นในสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชั่น “กัญญาณัฐ ปิยะชัยวุฒิ” และ “สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ” สองผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อินสไปเรชั่น ดีไซน์ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์ Nineties Design มีหน้าร้านอยู่แล้ว 20 สาขาบนศูนย์การค้า เข้าร่วมคอร์ส LEAD เพราะต้องการหาช่องทางในการสเกล

แบรนด์ Nineties Design นั้นเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ยุค 90s เหมาะกับลูกค้าวัยรุ่น แต่ไม่ใช่ทุกศูนย์การค้าที่จะเป็นแหล่งวัยรุ่นจำนวนมากทำให้การขยายสาขามีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้มีจุดแข็งคือการมีทีมดีไซเนอร์ออกแบบสินค้าเอง และมีเครือข่ายผู้ผลิตตัดเย็บและซัพพลายเออร์ผ้าที่ดี ทำให้พื้นฐานพร้อมในการขยายแบรนด์ไปในทิศทางอื่นได้โดยใช้ทีมออกแบบและผลิตกลุ่มเดิม

“เราได้แนวคิดใหม่กับคอร์ส LEAD ว่าถ้าจะเข้าไปขายในทำเลอื่น ไม่ใช่ว่าเราต้องลงสินค้าเดิมเสมอ แต่เราสามารถแตกแบรนด์ย่อยเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับคนในทำเลนั้นๆ ก็ได้ เช่น ทำเลพระราม 2 ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว เราก็ลองทำแบรนด์ Nineties Kids เป็นเสื้อผ้าเด็กลายยุค 90s หรือทำเลที่เป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ เราแตกเป็นแบรนด์ NINE จำหน่ายเสื้อยืดที่มินิมอล เรียบง่าย เน้นคัตติ้งและเนื้อผ้าดี สามารถใส่ไปทำงานได้” กัญญาณัฐอธิบาย

จากกลยุทธ์นี้บริษัทจึงสามารถขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 30 สาขา เป็นการเปิดสาขาจริงระหว่างที่ยังเรียนอยู่ในหลักสูตร และตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 50 สาขาในปีนี้


Amatas แบรนด์รีเทลใหม่จากผู้ผลิต ‘Super Lock’

Amatas (อมาทาส) เป็นแบรนด์ร้านรีเทลใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง “พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น” กรรมการผู้จัดการ ไมครอน กรุ๊ป เข้าร่วมหลักสูตร LEAD โดยกลุ่มบริษัทนี้เป็นธุรกิจครอบครัว แต่เดิมเป็นโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์พลาสติก ก่อนที่ต่อมาได้สร้างแบรนด์ของตนเองคือ SuperLock” จำหน่ายสินค้าใช้เก็บและจัดระเบียบในครัว เช่น กล่องอาหาร ขวดน้ำ

การมาร่วมหลักสูตรนี้ของพลาวุฒิ เกิดจากแนวคิดที่บริษัทต้องการจะมีช่องทางรีเทลของตนเอง และจะขยายไปจำหน่าย “เครื่องครัวแบบครบวงจร” หลังผ่านหลักสูตรทำให้ร้านรีเทล Amatas มีคอนเซปต์ที่ชัดเจนคือจะเป็น “ร้านเครื่องครัวแบบมัลติแบรนด์” โดยเน้นนำเข้าสินค้าที่ฟังก์ชันเยี่ยมและดีไซน์มีรสนิยม

ร้านออฟไลน์แห่งแรกกำลังจะเปิดที่เซ็นทรัลเวิลด์ในเดือนมิถุนายนนี้ โดย Amatas เริ่มขายทางออนไลน์แล้ว โดยมีสินค้าเรือธงคือ “Fika” เครื่องครัวสุดมินิมอลจากเกาหลีใต้ที่บริษัทเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเพียงผู้เดียว และสร้างกระแสเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านชาวไทย

พลาวุฒิตั้งเป้าว่าหลังจากเปิด Amatas จะทำให้ไมครอน กรุ๊ป ทั้งเครือมีรายได้แตะ 500 ล้านบาทภายในปี 2568 จากที่เคยมีรายได้ 200 ล้านบาทเมื่อปี 2565 และร้านรีเทล Amatas จะเปิดให้ครบ 10 สาขา นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สเปน อิตาลี เป็นต้น


Tempered ช็อกโกแลตฝีมือคนไทยที่ขอ “ขึ้นห้างฯ”

แบรนด์นี้เป็นสินค้าจากแพสชันของ “ชนิกานต์ ตันบุญเพิ่ม” ผู้ร่วมก่อตั้งและเชฟแบรนด์ Tempered Cooperatives ซึ่งเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตคนไทย ผลิตจากเมล็ดโกโก้ที่ปลูกในไทยทั้งหมด และมีขั้นการผลิตแบบ Zero-Waste เพื่อความยั่งยืน

ก่อนหน้าเข้าร่วมคอร์ส LEAD แบรนด์ Tempered มีหน้าร้านเพียง 1 สาขาเป็นแบบ stand-alone นอกศูนย์การค้า แต่ความมุ่งมั่นของชนิกานต์คือต้องการจะนำร้านขยายสาขาสู่ศูนย์การค้าให้ได้

“ในหลักสูตรนี้เราได้ลองทำ pop-up store ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ถูกคอมเมนต์ทุกวัน ต้องแก้ไขเปลี่ยนดิสเพลย์ร้านทุกวัน ได้ยืนหน้าร้านเองเพื่อคุยกับลูกค้า ได้โอกาสคอลแลปสินค้ากับเพื่อนร่วมรุ่น เช่น ไอศกรีมช็อกโกแลต ขนมปังช็อกโกแลต คอร์ส LEAD ช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะสเกลร้านรูปแบบไหน” ชนิกานต์กล่าว

ระหว่างการเรียนในหลักสูตรนี้ทำให้ยอดขายต่อเดือนของ Tempered เพิ่มขึ้น 20-30% และเห็นทิศทางที่ชัดขึ้นในด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะถูกใจกลุ่มลูกค้า


Moreover จากดีไซเนอร์สู่ธุรกิจรีเทล

ปิดท้ายที่แบรนด์ Moreover ภายใต้การนำของ “นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านการออกแบบ บริษัท เข้ากันดี จำกัด แบรนด์นี้จะเน้นการออกแบบของแต่งบ้านที่มีสไตล์ มีไอเดีย เช่น หิ้งพระมินิมอล เครื่องหอม โดยมีทั้งสินค้าของ       แบรนด์เองที่วางจำหน่ายในร้านมัลติแบรนด์ต่างๆ และสินค้ากลุ่มที่คอลแลปรับออกแบบให้กับแบรนด์หรือบริษัทอื่นๆ

โจทย์ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจนี้คือแบรนด์ต้องการจะมีช่องทางขายที่มากขึ้น และเข้าใจการทำธุรกิจสูงขึ้น จากเดิมมีพื้นฐานในด้านงานดีไซน์เป็นหลัก

“หลังมาเรียนคอร์ส LEAD แล้วทำให้เราขยายจุดจำหน่ายได้จาก 15 จุด เป็น 20-30 จุด ซึ่งเกิดจากเราเข้าใจการจัดการสต็อกได้ดีขึ้น” นวัตกล่าว

อีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่เกิดจากการเรียน คือการเริ่มสร้างคอนเซปต์ Flagship Store ในชื่อ “Overlaps by Moreover” เพื่อจะวางขายสินค้าที่บริษัทออกแบบทุกๆ ชิ้นไว้ในร้านเดียว ทั้งสินค้าของแบรนด์และที่คอลแลปกับแบรนด์อื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิด pop-up store กับเซ็นทรัลพัฒนาเพื่อหาโลเคชันที่ดีที่สุด

ดร.ณัฐกิตติ์กล่าวสรุปว่า จากผู้เข้าร่วมหลักสูตร LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา รวม 4 รุ่น มีแบรนด์ที่ผ่านการอบรม 150 แบรนด์ ร่วมเปิดร้านกับเซ็นทรัลพัฒนาแล้ว 600 ร้าน คิดเป็นพื้นที่ขายรวม 30,000 ตร.ม. และคิดเป็นมูลค่าการเติบโตทางธุรกิจมากกว่า 1,800 ล้านบาท

ส่วนคอร์ส LEAD รุ่นที่ 5 จะเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ โดยจะมีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกนักเรียนเพียง 40-50 คนเท่านั้น ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องเคยเปิดร้านกับเซ็นทรัลพัฒนามาก่อน แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการตัวจริง และต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดึงศักยภาพแบรนด์ให้ไปได้ไกลที่สุด

ผศ.ปิติพีร์ยังวางวิสัยทัศน์คอนเซปต์การเรียนในรุ่นที่ 5 ว่าจะเป็นธีม “Curation of the Newness” พาแบรนด์ตามโลกที่เปลี่ยนเร็วให้ทัน เชื่อมต่อกับ ‘value’ ใหม่ของผู้บริโภคยุคใหม่เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์อย่างยั่งยืน

สนใจสมัครเข้าร่วมหลักสูตร LEAD รุ่นที่ 5  https://shoppingcenter.centralpattana.co.th/lead/