บี.กริม เพาเวอร์ เผยผลงานปี 2565 รายได้เพิ่ม 33.8% ลุยเพิ่มสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ  BGRIM หนึ่งในบริษัทพลังงานเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ที่โดดเด่นในด้านการผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 12.3% เป็น 14,579 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้โรงไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Small Power Producer หรือ SPP) ทั้งในส่วนที่ขายไฟฟ้าให้ แก่ กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) จากการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติและการปรับขึ้นของค่า Ft และปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม

ขณะที่รายได้รวมปี 2565 เพิ่มขึ้น 33.8% เป็น 62,395 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณไฟฟ้าที่ขายอยู่ที่ 13,958 กิกะวัตต์-ชั่วโมง สาเหตุมาจาก จาก 1) ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยให้แก่ กฟผ. เพิ่มขึ้นจากกลไกการส่งผ่านค่าเชื้อเพลิงตามราคาก๊าซธรรมชาติ ค่า Ft และราคาขายไอน้ำต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 2) การฟื้นตัวของปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้า IU ในประเทศเวียดนาม จากการล็อคดาวน์ประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 3) การเติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว และ 4) การเริ่มดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564

ด้านกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ สำหรับปี 2565 อยู่ที่ 375 ล้านบาท ลดลง 84.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 อยู่ที่ 169 ล้านบาท ลดลง 20.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลมากกว่าการปรับขึ้นของค่า Ft (ผลการดำเนินงานของลูกค้า IU ในประเทศคิดเป็น 20.7% ของรายได้รวม) หากรวมผลขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่เงินสดและรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ทั้งการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง และขาดทุนจากการด้อยค่าของโรงไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว จะส่งผลให้ บี.กริม เพาเวอร์ รายงานผลขาดทุนสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่เท่ากับ 1,244 ล้านบาท สำหรับปี 2565 และ 545 ล้านบาท สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2565

ส่วนปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าของ บี.กริม เพาเวอร์ คือ การเพิ่มขึ้นของค่า Ft จาก 0.9343 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 1.5492 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนมกราคม – เมษายน 2566 สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มของราคาพลังงานโลก และคาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติต่อหน่วย สำหรับ SPP จะอยู่ที่ 400-450 บาทต่อล้าน BTU พร้อมกันนี้ ตั้งเป้าดำเนินการตามแผนควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในปีนี้อย่างน้อย 50-70 ล้านบาท

“ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างโอบอ้อมอารี และการปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ บี.กริม สามารถก้าวผ่านมาได้ทุกวิกฤตตลอด 145 ปี แม้ในปี 2565 บี.กริม เพาเวอร์ จะมีผลการดำเนินงาน ชะลอตัวด้วยผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่ใช่เงินสด บี.กริม เพาเวอร์ เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานขององค์กรจะสามารถฟื้นตัวอย่างมั่นคงในปี 2566 และอนาคตต่อจากนี้ไป ด้วยยุทธศาสตร์ GreenLeap Global and Green มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ขยายการลงทุนในพลังงานทดแทน มุ่งสู่ 4,700 เมกะวัตต์ในปี 2567 และ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2573” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ เปิดเผยว่า “ปี 2565 เป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย จากสถานการณ์ในรัฐเซีย-ยูเครน และราคาก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก บี.กริม เพาเวอร์ ได้ร่วมแรงร่วมใจในการลดค่าใช้จ่าย ขยายธุรกิจและบริการใหม่ เห็นได้จากรายได้จากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 381 ล้านบาท และรายได้จากใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) 22 ล้านบาท ในปี 2565 บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรที่มุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรม การลงทุน และความยั่งยืน โดยร่วมมือกับ Global Innovation Catalyst (GIC) จาก Silicon Valley เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กร นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายงาน S&P Global’s Sustainability Yearbook ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 2 โดยอยู่ในกลุ่มบริษัทผู้นำ 10% แรกของอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้า ในรายงานฉบับปี 2566 สะท้อนการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร”

สำหรับแผนงานในปี 2566 บริษัทเดินหน้าขยายการลงทุน และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ บี.กริม เพาเวอร์ และ อมตะ คอร์ปอเรชัน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ “อมตะ ยูโรเปี้ยน สมาร์ท ซิตี้” (AMATA European Smart City) รองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (s-curve industries) ที่มีแนวโน้มจะขยายฐานการผลิตมายังทวีปเอเชีย และล่าสุดยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ TNB Power Generation บริษัทย่อยของการไฟฟ้าแห่งชาติมาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad: TNB) เพื่อนำเข้าพลังงานหมุนเวียน (พลังงานน้ำ ลม และแสงอาทิตย์) จากโรงไฟฟ้ารวมขนาด 200 เมกะวัตต์ ผ่านกลไกของโครงการเชื่อมโยงระบบพลังงาน ลาว-ไทย-มาเลเซีย รวมถึงร่วมกันพัฒนาโครงการพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

“ตลอดปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ วางเป้าหมายการได้มาของโครงการใหม่ๆ เพิ่มกำลังการผลิตจากการเข้าซื้อกิจการ การเพิ่มจำนวนลูกค้า IU รายใหม่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 50.0-60.0 เมกะวัตต์ และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 438 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม BGPM2R (บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) 2) , โครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน อู่ตะเภา และโครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ BGPAT2&3 (บริษัท บี.กริม อ่างทอง 2 จำกัด และ บริษัท บี.กริม อ่างทอง 3 จำกัด)” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

ในระยะยาว บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 การเพิ่มกำลังเป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยมี EBITDA มากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไร EBITDA ที่ร้อยละ 35 ภายในปี 2573 โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น มีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 25%

ด้านรางวัลและประกาศเกียรติคุณ บริษัทฯ ได้รับ 5 รางวัล จากงาน The 12th Asian Excellence Awards 2022 จัดโดย Corporate Governance Asia และ 2 รางวัล จากงาน Asian Power Awards 2022 จัดโดย Asian Power, รางวัล Rising Star Sustainability Excellence จากงาน SET Awards 2022 จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และรางวัล Best in Sector – Utilities จากงาน South East Asia Awards 2022 จัดโดย IR Magazine อีกด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ บี.กริม เพาเวอร์ ประกาศจ่ายเงินปันผลที่ 0.065 บาทต่อหุ้น สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 คิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลที่ 45% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน โดยเหลือเงินปันผลจ่ายงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.035 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 สอดคล้องกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40%