ปรับตัวในแบบ ‘เอปสัน’ เมื่อธุรกิจ “ปริ๊นเตอร์คอนซูมเมอร์” ถึงทางตัน สู่โซลูชัน ‘iPrint AnyWhere’

ในยุคที่ใคร ๆ ก็มุ่งสู่ Paperless หนึ่งในบริษัทเครื่องพิมพ์เบอร์ต้น ๆ อย่าง ‘เอปสัน’ (Epson) แม้มองว่า การพิมพ์คงไม่หายไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางตลาดโดยเฉพาะตลาด B2C ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักของบริษัทคงไม่เติบโตอีกแล้ว ดังนั้น บริษัทเองก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่หาตลาดใหม่ แต่ต้องมีบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ มาอุดช่องว่างนี้

ตลาด B2C ไม่สดใสอีกต่อไปแล้ว

อ้างอิงข้อมูลจาก GFK คาดว่าตลาดเครื่องพิมพ์ B2C ในปี 2022 มีมูลค่าอยู่ที่ 2,838 ล้านบาท ลดลง 5% จากปี 2021 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2,985 ล้านบาท ส่วนในด้าน จำนวนเครื่องลดลง 8% เหลือ 7.17 แสนเครื่อง จากปี 2021 ที่มีประมาณ 7.87 แสนตัว โดย ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า คาดว่าตลาดปีนี้จะ ติดลบ 2-3%

ยรรยง ยอมรับว่า ตลาดไม่ได้สดใสเหมือนก่อนแล้ว แต่กลับกัน ตลาด B2B กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตกว่า โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องโดยโฟกัสโปรดักต์ B2C น้อยลงให้ความสำคัญกับ B2B มากขึ้น จนทำให้ผลประกอบการในไทยยังเติบโต โดยปัจจุบันเอปสันมีสัดส่วนรายได้ฝั่ง B2C ประมาณ 65% ส่วน B2B มีสัดส่วน 35%

ปีนี้ตลาดคงไม่เติบโต เพราะผู้บริโภคเน้นใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตลาดศักยภาพคือ B2B อย่างช่วงการเลือกตั้งถือเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นของเรา เพราะมีการหาเสียง ต้องพิมพ์แผ่นป้ายหาเสียงต่าง ๆ”

ตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่อง 10%

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2022 เติบโตกว่า 10% ซึ่งเป็นการเติบโต 2 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานราชการได้มีการลงทุนกับอุปกรณ์ไอที โดยเฉพาะในกลุ่มสถาบันการศึกษา, การกลับมาให้บริการอีกครั้งของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็เริ่มคลี่คลาย

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตมากที่สุดของเอปสัน ได้แก่

  • กลุ่มสินค้าเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรม (+170%)
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมโปรเจคเตอร์ (+64%)
  • กลุ่มโปรเจคเตอร์ความสว่างสูง (+43%)
  • กลุ่มเครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัล (+52%)
  • กลุ่มเครื่องพิมพ์มินิแล็บ (+29%)
  • เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทขนาดใหญ่ (+23%)

“อย่างเทรนด์ที่ผู้บริโภคตกแต่งห้องดูหนังในบ้านมากขึ้น รวมถึงกระแสบอลโลก ส่งผลให้กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมโปรเจคเตอร์เติบโต หรืออย่างโปรเจคเตอร์สว่างสูงก็เติบโตได้ดี เพราะมีการนำไปใช้ในสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น”

สำหรับปีนี้ เอปสันวางเป้าเติบโต อย่างน้อย 10% ต่อเนื่อง แม้ภาพรวมโดยเฉพาะในตลาด B2C จะติดลบ แต่ฝั่ง B2B ยังเติบโต 2 หลักโดยกลยุทธ์ที่วางในปีนี้คือ New 5

  • New Business Model : เพราะแค่การขายอาจไม่สามารถสร้างการเติบโตที่แข็งแรง โดยเฉพาะ B2C ดังนั้น เอปสันจึงเริ่มทำ ธุรกิจเชิงการบริการ เช่น การนำเสนอรูปแบบบริการการพิมพ์แบบจ่ายรายเดือน และโซลูชัน Epson iPrint AnyWhere ที่ช่วยให้ผู้ใช้และองค์กรในการพิมพ์เอกสารผ่านเครื่องพิมพ์เอปสันในสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่าย ผ่านระบบคลาวด์ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ที่มีเครื่องพิมพ์ โดยจะได้เห็นช่วงครึ่งปีหลัง นำร่องแถวมหาวิทยาลัย

“ตอนนี้เรากำลังทำคอนเซ็ปต์อยู่ ดังนั้น อาจยังไม่ได้คิดเรื่องรายได้ แต่รายได้มันจะเป็นเหมือน passive income คืออาจจะไม่ได้มากเท่าขายเครื่อง แต่ได้เรื่อย ๆ”

  • New S-curve เพราะตลาด B2C ของสินค้ากลุ่มปริ๊นเตอร์และโปรเจคเตอร์ไม่เติบโต โดยทั้ง 2 กลุ่มถือเป็นกลุ่มสินค้าหลักคิดเป็นรายได้กว่า 50% ดังนั้น เอปสันจึงจะเน้นไปที่การทำตลาด B2B โดยนำสินค้าที่มีเทคโนโลยี Heat-Free ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสร้างความยั่งยืนลดใช้พลังงาน โดยจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นแกนหลักเพื่อ ทดแทนตลาดเลเซอร์ปริ๊นเตอร์ ที่จะเลิกจำหน่ายในปีนี้ และใช้ปริ๊นเตอร์อิงค์เจ็ทแทน หรือในตลาดโปรเจคเตอร์ ก็จะนำ โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง เข้ามาทดแทน

“นี่เป็นการตัดสินใจที่ยาก เพราะรายได้ไม่ได้อยู่ที่เครื่อง แต่มันอยู่ที่ค่าโทนเนอร์ที่ใช้ อย่างไรก็ตาม อิงค์เจ็ทนั้นมีคุณภาพดีกว่า ต้นทุนถูกกว่า และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ค่าไฟใช้น้อยกว่า 85% ดังนั้น เรามองแล้วว่าดีกว่า เราคาดว่าอิงค์เจ็ทจะเติบโต 40% ขณะที่ปริ๊นเลเซอร์เราในปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้เลขหลักเดียว ดังนั้น เลิกไปคงไม่ค่อยมีผลกระทบอะไร”

  • New Target เน้นเจาะกลุ่ม B2B หรือเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงเลเซอร์โปรเจคเตอร์ สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่
  • New Experience เอปสันได้มีการลงทุนในการสร้างโซลูชันเซ็นเตอร์แห่งใหม่ ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3 ของปี 2566 นี้ โดยจะรวบรวมผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาจัดแสดง เน้นสินค้าเชิงพาณิชย์ พร้อมกับทำการสาธิตและจัดอบรมให้กับตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าที่สนใจให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้งานเครื่องจริงก่อนตัดสินใจซื้อ ปัจจุบันมี 5 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยคาดว่าใหญ่สุดในภูมิภาค ครบวงจรมากกว่า ให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของลูกค้า
  • New Service ในด้านการบริการ เอปสันได้ทำการเสริมศักยภาพการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย โดยก่อนการขาย เอปสันได้เพิ่มทีมงาน Pre-sales เพื่อให้สนับสนุนการทำโซลูชันต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนข้อมูลผ่านทาง digital platform ต่างๆ และที่สำคัญในปีใหม่นี้ เอปสันมีแผนขยายเครือข่ายการให้บริการหลังการขายของสินค้ากลุ่ม B2B จาก 122 แห่ง เป็น 130 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมหัวเมืองรอง รับการขยายตัวของตลาด และลดระยะเวลาในการส่งเครื่องซ่อม

โรโบติกโตน้อย แต่มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มองว่าจะเป็นอนาคตของเอปสันอย่าง โรโบติก หรือหุ่นยนต์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยในปีที่ผ่านมาถือว่าเติบโตน้อย ซึ่งเป็นผลจากลูกค้ารายใหญ่ชะลอการลงทุน ขณะที่ส่งออกไทยก็ยังไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เอปสันยังมองว่าโรโบติกยังจะเป็นกลุ่มที่โฟกัส เพราะอนาคตจะมีการใช้งานมากขึ้น เพราะไม่ช้าก็เร็วจะมีการนำมาใช้ เพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งปัจจุบันเอปสันมีทีมงานที่จะเจาะเข้าไปในโรงงานที่คิดว่าจะเป็นลูกค้าในอนาคต มีการจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยกระบวนการเยอะ ทำให้การปิดการขายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน