มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มุ่งมั่นให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ระดับโลก จับมือกับ เบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ (Berkeley SkyDeck Fund) หนึ่งในองค์กรให้คำปรึกษาและแหล่งเงินทุนกับสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก จัดการแข่งขัน BU X Berkley SkyDeck Fund Mini Hackathon 2023 Food Service Tech Startup เปิดโอกาสให้นักศึกษาเสนอแผนธุรกิจสตาร์ทอัพ ต่อคณะกรรมการที่มีประสบการณ์ในการปลุกปั้นสตาร์ทอัพ ให้ประสบความสำเร็จเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในซิลิคอนวัลเลย์ที่ทุกคนใฝ่ฝัน
รศ.ดร.ศุภเจตน์ จันทร์สาส์น ผู้ช่วยอธิการบดีสายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงความร่วมมือที่นำมาสู่การแข่งขันด้านธุรกิจสตาร์ทอัพในครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการร่วมมือระหว่างกันในการนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพระดับโลก มาปรับใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งทางเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดย University of California, Berkeley สถาบันการศึกษาอันดับต้นๆ ของโลก มีประสบการณ์ในการให้คำแนะนำกับบรรดาสตาร์ทอัพมามากมาย การที่เราได้ร่วมมือกับทางเบิร์กลีย์ สกายเดก จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยที่มีจุดแข็งทางด้านการสร้างผู้ประกอบการในระดับ SME ไปสู่สตาร์ทอัพที่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับโลก
โดยหัวข้อการแข่งขันในรูปแบบของแฮกกาธอนนี้ คือจุดเด่นของประเทศไทย “Food Service Tech Startup” การนำธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงการขนส่งอาหารทั้งหมด รวมเข้ากับการนำเอาเทคโนโลยีมาใส่ในธุรกิจเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สร้างรูปแบบสินค้า และบริการรูปแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค ซึ่ง การแข่งขันในรูปแบบแฮกกาธอนนี้ จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องการนำเสนอและการเสนองานอย่างไรให้นักลงทุนสนใจเข้าร่วมลงทุน ในขณะเดียวกันกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความร่วมมือระหว่างคณะ เพราะที่ผ่านมาคณะต่างๆก็มีกิจกรรมการแข่งขันของตัวเอง ต่างคนต่างทำ ต่างแสดงความสามารถลงแข่งขันในด้านที่ตัวเองถนัด แต่พอมีกิจกรรมการแข่งที่จำเป็นต้องดึงนักศึกษาที่มีศักยภาพแตกต่างกัน มาทำงานร่วมกัน ผลการแข่งที่ออกมาเราก็ทำได้ดี เพราะในโลกของการทำธุรกิจ ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ในทีมที่ชนะเลิศ ประกอบไปด้วยเด็กที่เก่งจากคณะบริหารธุรกิจและคณะไอที มาทำงานร่วมกันซึ่งต่างก็ใช้ความสามารถของตัวเอง ทำให้เกิดจุดแข็งในธุรกิจจนคว้าชัยชนะมาได้”
ไบรอัน บอร์ดลีย์ (Brian Bordley) เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า โดยปรกติแล้ว เบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เพื่อให้ความรู้และแนวทางการเป็นสตาร์ทอัพ และสร้างระบบที่เอื้อต่อความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งภายใน 5 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพเข้าร่วมกับเรามากกว่า 200 สตาร์ทอัพ จาก 30 กว่าประเทศทั่วโลก ระดมทุนในธุรกิจตั้งแต่ 2 แสนไปจนถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่เราสอนไม่ได้มีแค่การจะทำอย่างไรให้เป็นสตาร์ทอัพที่ดี แต่เรายังมีแหล่งเงินทุน ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้อีกด้วย
“ความร่วมมือระหว่าง เบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ กับทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพนั้น ผมมองว่าเป็นความร่วมมือที่ดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการคิดนอกกรอบ การคิดแบบสร้างสรรค์ มีคณะวิชาที่สอนด้านการเขียนโปรแกรม มีการเรียนเรื่อง AI มีคณะวิศวกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก รวมทั้งการสอนให้นักศึกษามีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เหมาะสมกับยุคดิจิทัล การจับมือทำงานร่วมกันในครั้งนี้สิ่งที่นักศึกษาจะได้ก็คือการเรียนรู้เรื่องการนำเสนอแผนธุรกิจอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ เราจะสอนให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องการนำเสอนแผนธุรกิจให้กับนักลงทุนระดับพันล้านขึ้นไป ธุรกิจอะไรที่จะสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันในตลาดโลก แบบพลิกโฉมหน้าเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และจากการพูดคุยกับนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ยอมรับว่านักศึกษาไทย มีไอเดียและแผนธุรกิจที่น่าสนใจเทียบเท่ากับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก”
ไบรอัน กล่าวต่อถึงการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จไว้ว่า องค์ประกอบอย่างแรกก็คือ ต้องมีผู้ประกอบการที่มีไฟในการทำงาน มีความกล้าเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอายุน้อย องค์ประกอบที่ 2 ก็คือ Mentor หรือที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับนักธุรกิจ ก็ต้องเปิดรับไอเดียใหม่ๆ และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้จากประสบการณ์ เพื่อให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง ซึ่งตัวสตาร์ทอัพเองก็ต้องเป็นคนที่มีใจเปิดกว้างสามารถยอมรับความจริงและพร้อมปรับเปลี่ยนได้
สุดท้ายคือศูนย์รวมนักลงทุนที่จะเข้ามามองหาไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ และร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพรายนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทางเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ ถึงทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพในการพัฒนา อบรมสตาร์ทอัพ รายใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ไปพร้อมๆ กับส่วนจัดหานักลงทุนหรือแหล่งลงทุนที่จะเข้ามาทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ
ด้าน พีรณัฐ อุณหะนันทน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตัวแทนทีม “Fealth” ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน BU X Berkley SkyDeck Fund Mini Hackathon 2023 เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ผมนำเสนอแนวคิดการเป็นสตาร์ทอัพเรื่องการ Cloud kitchen หรือ ครัวกลาง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากกว่า ทางทีมจึงเอาแนวคิดจากคำแนะนำนี้ มาปรับเปลี่ยนมาเป็น ธุรกิจครัวกลาง ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและให้บริการ สั่งและส่งผ่านแอปพลิเคชัน “Fealth” Health food delivery แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้รักสุขภาพได้รับอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากฟังก์ชั่นการสั่งอาหารแล้ว ยังมีการคำนวณแคลลอรี่ในอาหารเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งทำให้เราได้รับรางวัลชนะเลิศ”
ในช่วงแรกยอมรับว่าติดขัดอยู่บ้างเพราะมาจากคณะที่ต่างกันและต่างคนต่างมีความสามารถในแนวทางของตัวเอง จนถึงจุดที่เราปรับตัวแบ่งหน้าที่กันชัดเจน แล้วเราก็ทำออกมาได้ดี ทำให้ผมมองเห็นภาพการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ว่าควรจะต้องมีคนที่เก่งด้านต่างๆ มาทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังจากได้รับรางวัลผมคิดว่าได้ความรู้ และประสบการณ์หลายอย่างในการเป็นสตาร์ทอัพ ได้เรื่องมุมมองธุรกิจ การนำเสนอแผนธุรกิจให้กับนักลงทุนระดับพันล้าน” พีรณัฐกล่าวปิดท้าย