จากวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในอากาศมีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลให้เกิดสภาวะมลพิษทางอากาศในประเทศไทยโดยปริมาณการสะสมของฝุ่นในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว แต่ฝุ่น PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาในหลายเมืองใหญ่ของโลก ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนมาตรฐานคุณภาพระดับสากล ตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจร่างกายและป้องกันตัวเองก่อนเกิดโรคพร้อมดูแลคนที่ไม่ป่วย ไม่ให้ป่วยได้หยิบยกเรื่องราวภัยร้ายของผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่เพียงแต่จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเท่านั้น แต่ยังสามารถทำร้ายหัวใจถึงขั้นป่วยหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และหัวใจวาย (Heart Attack) ได้ ฉะนั้นการหลีกเลี่ยงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวัง เพื่อดูแลสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงไปอีกนาน
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM2.5 นับเป็นสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) เช่นเดียวกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคทางปอด ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณที่ได้รับอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยฝุ่น PM2.5 จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดจนเกิดเป็นลิ่มเลือด หากได้รับในปริมาณสูงก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน
ผลกระทบจาก PM2.5 นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 อาการ ได้แก่ อาการหลอดเลือดเสื่อมสภาพ หนาตัวขึ้น และอาการกล้ามเนื้อหดตัวแข็งขึ้นยืดหยุ่นน้อยลง ส่งผลต่อเกร็ดเลือดทำให้เกิดการสลายลิ่มเลือดยากขึ้น และเกร็ดเลือดเกาะกลุ่มได้ง่ายขึ้น เมื่อปัจจัยทั้งสองเกิดขึ้นก็จะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตันได้
นพ.ชาติทนง กล่าวต่ออีกว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นไม่เกี่ยวกับอายุแต่เกี่ยวข้องกับปริมาณที่ร่างกายได้รับจนเกิดการสะสมขึ้นในร่างกาย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่นหอบหืด เบาหวาน และ ความดัน ก็ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นเนื่องจากมีความอ่อนไหวสูง อีกทั้งขณะนี้แพทย์ทั่วโลกกำลังเตือนภัยและยกระดับความเสี่ยงของ PM2.5 ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ เทียบเท่ากับบุหรี่ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือกระตุ้นโรคประจำตัวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คนที่สุขภาพดีก็ต้องดูแลป้องกันตัวเองด้วยเช่นกันเพราะหากสูดฝุ่นPM 2.5 เข้าไปในปริมาณสูงก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดได้ ล่าสุดหน่วยงานด้านเวชศาสตร์การกีฬาได้ออกมาเตือนภัยแล้วว่า ถึงแม้จะเป็นนักกีฬาที่ร่างกายแข็งแรง หากได้รับฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมขึ้นไปก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ดังนั้นทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกายหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
สัญญาณเตือนแบบพิษฉับพลันของ PM2.5 ได้แก่ อาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืดคลื่นไส้ เลือดกำเดาออกขณะที่การก่อโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจจะเป็นลักษณะของการสะสมโรคจึงมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะสุขภาพของหัวใจ
ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีที่แม่นยำ อาทิ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) หรือการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม การทำงานของไต ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ระดับไขมันความหนาแน่นสูง-ต่ำ และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้เราทราบถึงความเสี่ยง และแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจในอนาคตและควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปี