พานาโซนิค เอเนอร์จี และ ซีพี ออลล์ เดินหน้าจับมือร่วมกันผลักดันการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยการเปิด “จุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection) เพื่อรีไซเคิล ผ่าน เซเว่น อีเลฟเว่น” ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการร่วมมือครั้งแรกระหว่างผู้ผลิตถ่านไฟฉายและร้านค้าปลีก เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาตระหนักปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการลดปริมาณถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว และบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
มร.ทาคุยะ ทานิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พานาโซนิค เอเนอร์จี เป็นผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านไฟฉายในประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อสร้างสรรค์ความสุขให้กับผู้บริโภคและสังคมไทยควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 พานาโซนิค เอเนอร์จี เป็นบริษัทแรกของกลุ่มพานาโซนิคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality
นอกเหนือจากความสำเร็จดังกล่าว พานาโซนิค เอเนอร์จี ยังร่วมมือกับ ซีพี ออลล์ เพื่อดำเนินการในมิติด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยดำเนินการออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉายรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกในการผลิต ลดปัญหาขยะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้มากถึง 13.5 ตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี
เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม พานาโซนิค เอเนอร์จี และ ซีพี ออลล์ ได้ตระหนักถึงปัญหาของจำนวนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจำนวนมากที่มักถูกทิ้งหรือทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ในการฝังกลบนอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว การกระทำดังกล่าวยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย ทั้ง 2 บริษัทจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “จุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection) เพื่อรีไซเคิล ผ่าน เซเว่น อีเลฟเว่น” โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งมีเป้าหมายในการรับคืนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค และนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีทั้งยังนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้มีการนำร่องจัดตั้งจุดบริการบริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 31 แห่ง ในพื้นที่เขตมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ พานาโซนิค เอเนอร์จี และซีพี ออลล์ พร้อมที่จะเดินหน้าและขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยนอกเหนือจากการรวบรวมถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจากผู้บริโภคผ่านจุดบริการที่เตรียมไว้ ถ่านไฟฉายเหล่านี้จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ โดยจะผ่านการคัดแยก และนำส่งให้กับโรงงานผลิตเหล็กเพื่อแปลงสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ และนำกลับมาใช้ต่อไป นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว โครงการนี้มีแผนที่จะขยายจุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วให้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากจุดบริการภายในมหาวิทยาลัย โดย พานาโซนิค เอเนอร์จี และซีพี ออลล์ วางแผนที่จะติดตั้งจุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection) เพื่อรีไซเคิล ผ่าน เซเว่น อีเลฟเว่น ให้ครบ 50 แห่งภายในปี 2566 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค
นางสาวอภิญญา บัญญัติทัศไนย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบาย 7 GO Green เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง ประกอบด้วย 1.Green Store & Building, 2.Green Packaging, 3.Green Logistics และ 4.Green Living ซึ่งการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวจะเน้นสร้างความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ชุมชน สังคม ซึ่งโครงการ “จุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ไม่ใช้แล้ว (Battery Collection) เพื่อรีไซเคิล ผ่าน เซเว่น อีเลฟเว่น” นี้ อยู่ภายใต้นโยบาย 7 Go Green และเป็นการประสานงานร่วมกันระหว่าง ซีพี ออลล์ และ พานาโซนิค เอเนอร์จี ซึ่งนับเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรทางธุรกิจมานานกว่า 24 ปี และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการแก้ไข ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมและโลกอย่างยั่งยืน ในการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อถ่านไฟฉายเก่ากลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายบริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในบริเวณมหาวิทยาลัยชั้นนำในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ รวมจำนวน 31 แห่ง อาทิ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์, มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น
โดย ซีพี ออลล์ และ พานาโซนิค เอเนอร์จี มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นความรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและสร้างแรงจูงใจในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่ออนาคตในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นไปตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”