ติดอัตราเร่งการทำ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ในประเทศไทย

ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชีย ได้เริ่มให้ความสำคัญกับกระบวนการทำดิจิทัล  ทรานส์ฟอร์เมชันในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีความต้องการใช้กระบวนการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโต พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งในท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนและวิกฤตที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้มีการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดอัตราเร่งในกระบวนการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลระดับชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก  อย่างไรก็ตามการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจำเป็นต้องอาศัยผู้นำที่ได้นำเอา “ความพร้อมเสมอ” (Always-on) มาจัดเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI) และมีความยั่งยืน ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่เสมอ  สำหรับผู้ที่สามารถลงมือทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง  การสร้างความเป็นเลิศทางดิจิทัลย่อมส่งผลที่ดีต่อไป

จากผลการศึกษาที่จัดทำโดย บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG)  พบว่าองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางดิจิทัล สามารถเอาชนะองค์กรอื่น ๆ บนตัวชี้วัดสำคัญทางธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงกว่า 39%  การเพิ่มขึ้นของมูลค่ากิจการที่มากกว่า 43% และรายได้ก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) จากปัญญาประดิษฐ์ที่มากกว่า 45%  เป็นต้น    องค์กรเหล่านี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นที่เหนือกว่าในระหว่างช่วงวิกฤตโควิด-19  จากอัตราการถดถอยที่น้อยกว่า ในขณะที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า นอกจากนี้ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่สูงกว่า 8% เมื่อนับจากช่วงเวลาเริ่มต้นวิกฤต 

TMA ได้ความร่วมมือกับ BCG  ริเริ่มจัดทำโครงการ Thailand Digital Excellence Awards  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าของกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานในระดับโลก ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Digital Acceleration Index (DAI) ของ BCG ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกระบวนการประเมินความพร้อมทางดิจิทัลชั้นนำของโลกที่ติดตามวัดผลธุรกิจกว่า 15,000 แห่งทั่วโลก โดยใช้ 8 กลุ่มตัวชี้วัดหลักและ 42 ตัวชี้วัดย่อยในมิติต่าง ๆ  

DAI แบ่งกลุ่มขององค์กรเป็นสี่ระดับ เริ่มจาก “Digital Starters” หรือองค์กรที่เพิ่งเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลเป็นโครงการเดียวโดด ๆ ไปจนถึง “Digital Champions” ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นจากการพลิกโฉมรูปแบบของธุรกิจเดิม (Business Model) โดยใช้วิธีการทางดิจิทัลและมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน  ตัวชี้วัด 8 กลุ่มหลักครอบคลุมสมรรถนะทางดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ไปจนถึงกระบวนการแปลงข้อมูลสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitization) ในตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนสำคัญ เช่น เทคโนโลยี ข้อมูล คน และธรรมาภิบาลองค์กร  นอกจากช่วยวัดความพร้อมทางดิจิทัลแล้ว DAI ยังช่วยให้แนวทางปฏิบัติสำหรับการกำหนดความมุ่งมั่นสู่ดิจิทัล (Digital Ambition) การจัดลำดับความสำคัญการลงทุนและความคิดริเริ่มทางดิจิทัล  และการติดอัตราเร่งให้กับกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ชันในทางปฏิบัติ

 ผลการศึกษาของเราพบว่าธุรกิจไทยโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นบนเส้นเคิร์ฟของความพร้อมทางดิจิทัล และยังตามหลังธุรกิจอื่น ๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แม้กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ เนื่องจากบริษัทไทยมีความพร้อมที่จะลงทุนเพื่อเร่งรัดอัตราการเติบโตทางดิจิทัล 

  การทำให้บริษัทไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก

หากไม่นับรวมภาคธุรกิจการเงินไทย ซึ่งมีพัฒนาการทางดิจิทัลไม่น้อยหน้าสถาบันการเงินในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผลการศึกษาของเราในปี 2564 พบว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังคงตามหลังอยู่บนเส้นเคิร์ฟของความพร้อมทางดิจิทัล   อย่างไรก็ตามบริษัทไทยมิได้เพิกเฉยต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางดิจิทัลในตลอดช่วงปี 2564 ซึ่งพบว่าประมาณ 1  ใน 3 หรือ 36% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจได้มีการมอบหมายบทบาทงานทางด้านดิจิทัลให้กับพนักงานไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานประจำทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 23%  ในปีก่อนหน้า  ขณะที่ 57% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีแผนการที่จะพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้กับพนักงานไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนพนักงานประจำทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 48%  ในปีก่อนหน้า  อย่างไรก็ตามประเทศอื่น ๆ ก็ได้มีการเร่งการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้พวกเขาทิ้งห่างประเทศไทยมากขึ้น

ประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุดน่าจะเป็นเรื่องของการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเพียงพอ เนื่องจากเราพบว่ามีบริษัทไทยเพียง 33% เท่านั้นที่มีการใช้จ่ายอย่างน้อย 10% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (OPEX) กับกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งเป็นอัตราที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขของระดับโลกนั้นเพิ่มจาก 75% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอยู่แล้วสู่ระดับ 84% ในช่วงเวลาเดียวกัน  และขณะที่ 40% ของบริษัทไทยเตรียมที่จะลงทุนในบริการช่องทางเชื่อมต่อข้ามระบบ หรือ Application Program Interface (APIs) เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitization)  ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปีก่อนหน้า  อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดนี้ของบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 83% ในช่วงเวลาเดียวกัน   แนวโน้มนี้เป็นเช่นเดียวกันสำหรับตัวชี้วัดด้านการให้ความสำคัญกับข้อมูล (Data-Centricity) เพราะในขณะที่ 40% ของบริษัทไทยมีการทำบูรณาการข้อมูลอย่างน้อย 10% ของปริมาณข้อมูลทั้งหมด ค่าเฉลี่ยระดับโลกทางด้านนี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 86% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

อย่างไรก็ตามผลการศึกษานี้ได้ค้นพบแนวโน้มในเชิงบวกที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังมีความกระตือรือร้นในเรื่องของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน  บริษัทส่วนใหญ่ระบุว่ามีกลยุทธ์ทางดิจิทัลที่พร้อมจะนำกระบวนการทรานส์ฟอร์มกลับมาทำอีกครั้ง   ถึงกระนั้นก็ตามข้อมูลจากการศึกษาของเราพบว่าความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในด้านของงบลงทุนที่บริษัทไทยจะจัดสรรให้กับกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน  

3 เหตุผลของการมีมุมมองเชิงบวกต่ออนาคตทางดิจิทัลของประเทศไทย  

ขณะที่ผลการศึกษาในปีที่ 3 ของโครงการ Thailand Digital Excellence Awards ที่จัดขึ้นในปี 2565 พบว่าบริษัทไทยยังคงตามหลังบริษัทอื่น ๆ ในระดับโลก มีสัญญาณบ่งบอกว่ากระบวนการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลของประเทศไทยกำลังมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้

ประการแรก ประเทศไทยดูเหมือนจะอยู่ในช่วงของการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญ ในขณะที่แนวโน้มโดยทั่วไปในระดับโลกเริ่มแสดงสัญญาณของการชะลอตัวลง   คะแนนเฉลี่ยของ DAI ของประเทศไทยพุ่งขึ้น 12 จุดจาก 30 เป็น 42 จุด ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียงหกจุด (จาก 53 เป็น 59 จุด) และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้นห้าจุด (จาก 57 เป็น 62 จุด) ในช่วงเวลาเดียวกัน เราวิเคราะห์ความหมายของตัวเหล่านี้ได้ว่า มีการส่งสัญญาณจากบริษัทไทยในการเริ่มไล่ล่าตามการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกแล้ว

    ประการที่สอง บริษัทไทยกำลังเพิ่มอัตราเร่งให้กับการลงทุนทางดิจิทัล ทางด้านข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และแพลตฟอร์ม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน  อย่างไรก็ตามขณะที่ 36% ของบริษัทไทยจัดสรรมากกว่า 10% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับความคิดริเริ่มทางดิจิทัล ตัวเลขนี้ในระดับโลกอยู่ที่ 90%  เพราะฉะนั้นเองบริษัทไทยจำเป็นต้องรักษาโมเมนตัมและเพิ่มการลงทุนทางดิจิทัลให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

  ประการที่สาม  ผู้ชนะรางวัล Digital Excellence Awards ในปี 2565 ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของบริษัทไทยในการแสดงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล  ไม่ว่าจะเป็น เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งได้รับรางวัลในสาขา Company of the Future จากแนวทางในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในแบบองค์รวม สร้างสรรค์และล้ำสมัยตลอดทั่วทั้งองค์กร ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง ที่ได้รับรางวัลในสาขา “Data & AI Leadership” ที่แสดงให้เห็นถึงอิมแพคที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ยากจะหาใครมาเปรียบได้และครบครันแก่ผู้บริโภค เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ได้รับรางวัลในสาขา “ESG Revolution” ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งและอัตราการสูญเสียพลังงาน  และ โพเมโล แฟชั่นซึ่งได้รับรางวัลในสาขา “Digital Disruption” จากผลสำเร็จในการผสมผสานแนวทางที่ดีที่สุดจากโลกออนไลน์และออฟไลน์และนำไปใช้กับร้านค้าปลีกในเครือข่าย  หรือเรียลสมาร์ท ที่ได้รางวัล “Digital Enablement” จากการช่วยสนับสนุนกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของลูกค้าบริษัท 

องค์กรชั้นนำเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเน้นย้ำว่าประเทศไทยจะสามารถประสบความสำเร็จในการไล่ตามทันชาวโลกทางด้านของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเท่านั้น ทว่ายังเป็นผู้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกระบวนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอีกด้วย