ฉางอันทุ่มลงทุน 9,800 ล้านบาท ตั้งฐานผลิต EV 1 แสนคัน ป้อนตลาดโลก

ฉางอัน ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน ประกาศลงทุนในไทย 9,800 ล้านบาท เตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ เพื่อสร้างฐานการผลิตรถยนต์ EV พวงมาลัยขวาแห่งแรกนอกประเทศจีน 1 แสนคัน เพื่อส่งออกทั่วโลก บีโอไอย้ำเดินหน้าดึงบริษัทชั้นนำลงทุน EV ดันไทยเป็นฐานการผลิตหลักของโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการทำงานร่วมกับบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งบีโอไอได้เดินทางไปพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ประเทศจีน เมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 เพื่อชี้แจงข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย รวมทั้งได้ตอกย้ำมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก ส่งผลให้บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และได้แถลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ว่าบริษัทตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เป็นแห่งแรกนอกประเทศจีน ด้วยเงินลงทุน 9,800 ล้านบาท ในการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ด้วยยอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่แล้ว มีสำนักงานใหญ่และฐานการผลิตหลักอยู่ที่มหานครฉงชิ่ง อีกทั้งได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทฟอร์ด และมาสด้า ผลิตรถยนต์ในจีนด้วย สำหรับแผนการลงทุนในประเทศไทยนั้น บริษัทเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2563 และมีการหารือร่วมกับสำนักงานบีโอไอ ณ นครเซี่ยงไฮ้ อย่างใกล้ชิด ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนเชิงลึก รวมถึงได้ส่งทีมงานเดินทางมาพบกับผู้บริหารของบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อหารือมาตรการสนับสนุนและรวบรวมข้อมูลประกอบการวางแผนการลงทุน

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอัน เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก อีกทั้งแสดงถึงความเชื่อมั่นของบริษัทที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร รวมทั้งซัพพลายเชนที่พร้อมรองรับการผลิต  EV โดยบริษัทได้เริ่มหารือกับซัพพลายเออร์ในไทย เพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ส่งให้กับบริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ด้วย นอกจากนี้ บีโอไอจะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ดึงผู้ผลิต EV รายอื่น ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมระบบชาร์จไฟฟ้าและ ecosystem ที่จำเป็น เพื่อให้ฐานอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายนฤตม์กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัทรวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 โครงการ จากบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งวางแผนจะยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือนพฤษภาคม และบริษัท GAC Aion ที่ได้มาหารือร่วมกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแผนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 6,400 ล้านบาท เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา