ไทยพาณิชย์ และ เอฟดับบลิวดี จับมือขยายสัญญาความร่วมมือธุรกิจประกันชีวิตผ่านช่องทางธนาคาร ในประเทศไทย

  • ขยายเวลาความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจประกันชีวิตผ่านธนาคารต่อเนื่องอีก 2 ปี
  • การทำงานร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของธุรกิจประกันเอฟดับบลิวดีในประเทศไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) และ เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (FWD ประเทศไทย) ได้ขยายอายุสัญญาความร่วมมือในธุรกิจประกันชีวิตผ่านธนาคารต่อเนื่องอีก 2 ปี เพื่อตอบรับความต้องการด้านความคุ้มครองและการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลของประเทศไทย

การขยายสัญญาความร่วมมือนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของการเป็นพันธมิตรระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ เอฟดับบลิวดี ประเทศไทยที่ผนึกกำลังสร้างการเติบโตร่วมกันในปีที่ผ่านมา โดย เอฟดับบลิวดี ประเทศไทย มีอัตราการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่ที่ 67% ในปี 2562 มาอยู่ที่มูลค่า 270 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2565 ส่งผลให้ปัจจุบัน เอฟดับบลิวดีประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ผ่านช่องทางธนาคาร[1]

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศความร่วมมือด้านประกันชีวิตร่วมกับกลุ่มเอฟดับบลิวดี เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร ด้วยความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ร่วมกันในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านความคุ้มครองและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้แก่ลูกค้า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ธุรกิจ ประกันชีวิตผ่านธนาคารของธนาคารไทยพาณิชย์ครองอันดับหนึ่งในตลาดในปัจจุบัน ธนาคารจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการขยายความร่วมมือกับกลุ่มเอฟดับบลิวดีต่อไป โดยจะร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตด้วยตัวเลือกที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสการเติบโตในกลุ่มลูกค้า Affluent และกลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัลซึ่งเป็นเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ของธนาคาร ความร่วมมือในครั้งนี้จะยังผลให้ธนาคาร รักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดอย่างแข็งแกร่ง และบรรลุจุดมุ่งหมายในการเป็น Digital Bank with Human Touch ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมส่งมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางให้กับลูกค้า

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ (D-SIBs)  มีจำนวนสาขา 660 สาขาตาม ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 และได้มีการนำผลิตภัณฑ์และบริการ ของ เอฟดับบลิวดีประเทศไทย มารวมไว้บนเครื่องมือดิจิทัลของธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีผู้ใช้บริการสูงถึง 78% จากจำนวนลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร[2]และเมื่อสิ้นปี 2565 เอฟดับบลิวดีประเทศไทยมีจำนวนผู้ถือกรมธรรม์ที่มาจากการเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 1.4 ล้านราย

นายปีเตอร์ กริมส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจประจำประเทศไทยและกัมพูชา กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีของกลุ่มบริษัท เอฟดับบลิวดีเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายระยะเวลาความร่วมมือกับพันธมิตรที่เคียงข้างสร้างความสำเร็จมาด้วยกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอฟดับบลิวดีและธนาคารไทยพาณิชย์ มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งถือเป็นเรื่องหลัก และเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของเรา เรามุ่งมั่นทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มีต่อการประกันชีวิตในประเทศไทย  ประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ  และมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง”

นับตั้งแต่กลุ่ม เอฟดับบลิวดีเข้าซื้อกิจการประกันชีวิตของธนาคารไทยพาณิชย์ และเริ่มทำงานร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562  เอฟดับบลิวดีประเทศไทยได้ขยายการเติบโต ทั้งในด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง และภายใน 6 เดือนนับจากการจับมือเป็นพันธมิตร ได้ประสบความสำเร็จและก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจประกันชีวิตผ่านธนาคาร โดยพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวม ตามข้อมูลของสมาคมประกันชีวิตไทย

ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยยังคงมีโอกาสเติบโตและเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ดังจะเห็นได้จากจำนวนประชากรที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการประกันภัยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ที่ 3.8% อ้างอิงจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 และยังมีโอกาสในการลดช่องว่างความคุ้มครองประกันภัย (Protection gap) ของประเทศคิดเป็นมูลค่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ[3] จากจำนวนประชากร 72 ล้านคน โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้มวลรวมประชาชาติเฉลี่ยต่อคน  (Thailand income per capita) อยู่ที่ 3.9% วัด ณ สิ้นปี 2564 เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.0%[4]และมีอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประเทศอยู่ที่ 96% และ 68% ตามลำดับ[5]

____________________

[1]ข้อมูลจาก สมาคมประกันชีวิตแห่งประเทศไทยในส่วนขอส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมในปี 2565

[2]ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

[3]ช่องว่างการคุ้มครองประกันภัย (protection gap) วัดจากเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวนรายปี (APE)

[4]หมายถึงอัตราการเติบโตแบบทบต้นของรายได้มวลรวมประชาชาติ (CAGR) จากปี 2558 – 2564

[5]แหล่งข้อมูลจาก NMG Asia Life Insurance Market Model, Swiss Re, United Nations, World Bank, IMF, World Data Lab, GSMA, GWP และได้ถูกจัดพิพม์โดยองค์กรภาครัฐในแต่ละประเทศ รวมถีงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประกันชีวิต