‘จีน’ ขึ้นแท่นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการ ‘เลี้ยงลูก’ สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก ‘เกาหลีใต้’

อย่างที่หลายคนรู้ว่าประเทศ จีน กำลังจะถูก อินเดีย แซงขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลก เนื่องจากอัตราการเกิดของจีนกำลังลดต่ำลงมาเรื่อย ๆ โดยส่วนหนึ่งที่คนจีนไม่อยากจะมีลูกก็เป็นเพราะเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งมีการเปิดเผยว่า จีนถือเป็นอันดับ 2 ของโลกสำหรับค่าเลี้ยงดูบุตร

ในปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดของจีนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.77 ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่จำนวนประชากรโดยรวมลดลง 850,000 คน เหลือเพียง 1.41 พันล้านคน โดยมีทารกที่กำเนิดใหม่เพียง 9.56 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขดังกล่าวลดลงต่ำกว่า 10 ล้านคน ขณะที่อินเดียกำลังจะแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีประชากรเกือบ 1.43 พันล้านคน

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะได้ยกเลิกมาตรการลูกคนเดียว พร้อมให้เงินสนับสนุนสำหรับครอบครัวที่จะมีบุตร แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลนัก โดยจากการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรหยูหวา ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรจนถึงอายุ 18 ปีในจีนอยู่ที่ 6.9 เท่า ของ GDP ต่อหัว ซึ่ง สูงเป็นอันดับสองของโลก รองจาก เกาหลีใต้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า GDP ต่อหัวถึง 7.79 เท่า

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เกาหลีใต้จะเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่มี อัตราการเกิดต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปีที่ผ่านมา จำนวนทารกโดยเฉลี่ยต่อผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ลดลงเหลือ 0.78 คน เทียบกับ 1.1 คนในจีน

การสำรวจทั่วประเทศโดยคณะกรรมการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติในปี 2560 พบว่า 77.4% ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ กล่าวว่า “ภาระทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส คือ เหตุผลหลักที่ทำให้ไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม” นอกจากนี้ยังรู้สึกว่า “แก่เกินไป” หรือ “ไม่มีใคร เพื่อดูแลลูก”

“ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรที่สูงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเต็มใจที่จะมีลูก ด้วยเหตุนี้ นโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรสำหรับครอบครัวจำเป็นที่จะอยู่ในวาระแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านเงินสนับสนุนและมาตรการภาษี, เงินอุดหนุนการซื้อบ้าน, การสร้างสถานรับเลี้ยงเด็ก และการลาคลอด เป็นต้นรายงานระบุ

รายงานของ YuWa ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 17 ปีในจีนอยู่ที่ 485,000 หยวน (ราว 2.8 ล้านบาท) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจนจบมหาวิทยาลัยอยู่ที่ประมาณ 627,000 หยวน (ราว 3.1 ล้านบาท) ขณะที่คนงานชาวจีนโดยเฉลี่ยมีรายได้ 105,000 หยวนต่อปี (5.1 แสนบาท) ในปี 2564 ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรในเขตเมืองจะสูงกว่าชนบทถึง 2 เท่า โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงลูกในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 969,000 หยวน และ 1,026,000 หยวนตามลำดับ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวในทิเบตอยู่ที่ 293,000 หยวนเท่านั้น