มาสเตอร์การ์ดประกาศใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือกเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าใช้ผลิตบัตรทั้งหมดภายในปี 2571

มาสเตอร์การ์ดประกาศเป้าหมายในการใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือก หรือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Bioplastics) แทนการใช้พลาสติกพีวีซีในการผลิตบัตรทั้งหมดในเครือข่ายภายในปี 2571 โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่มองหาแนวทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้จ่ายของตนให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์บัตรที่มีความยั่งยืนได้ง่ายยิ่งขึ้น

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2571 เป็นต้นไปและถือเป็นครั้งแรกในธุรกิจเครือข่ายการชำระเงิน โดยบัตรที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดของมาสเตอร์การ์ดจะผลิตจากวัสดุที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น เช่น พีวีซีรีไซเคิล (rPVC), พีอีทีรีไซเคิล (rPET) หรือพลาสติกชีวภาพชนิด PLA[1]โดยต้องได้รับการรองรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ จะให้การสนับสนุนพันธมิตรผู้ออกบัตรทั่วโลกในการเปลี่ยนผ่านจากพลาสติกพีวีซีสู่วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากวิดีโอนี้)

ซานดีพ มาลโฮทรา รองประธานบริหาร ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม มาสเตอร์การ์ดเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “วิกฤติพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของโลกซึ่งทุกคนในสังคมต้องร่วมกันแก้ไข อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวขาดการร่วมมือซึ่งกันและกันมาสเตอร์การ์ดจึงมุ่งประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 3,000 ล้านใบ ในการส่งเสริมให้เกิดภาคการชำระเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกันและความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ”

โครงการ Sustainable Card Program ของมาสเตอร์การ์ดได้เปิดตัวขึ้นในปี 2561 โดยปัจจุบันมีผู้ออกบัตรกว่า 330 รายจาก 80 ประเทศเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจ ซึ่งรวมถึงผู้ออกบัตร 90 รายใน 15 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก[2] ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาสเตอร์การ์ดได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตบัตรรายใหญ่ในการผลิตบัตรกว่า 168 ล้านใบในเครือข่าย ซึ่งรวมถึงบัตร 31 ล้านใบในเอเชียแปซิฟิก โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่มาจากกระบวนการชีวภาพ การประกาศเป้าหมายใหม่นี้จึงเป็นอีกแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์บัตรดิจิทัล ซึ่งสามารถทดแทนการใช้บัตรจริง (Physical Card) ได้

เป้าหมายใหม่นี้ยังกำหนดให้บัตรมาสเตอร์การ์ดที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการผลิตและเกณฑ์ด้านความยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบอิสระที่เป็นบุคคลภายนอก โดยบัตรที่ผ่านการรับรองจะมีการพิมพ์เครื่องหมาย Card Eco Certification ลงบนบัตร

“พันธมิตรผู้ออกบัตรของมาสเตอร์การ์ดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้การสนับสนุนโครงการของเราอย่างเต็มที่ โดยมีพันธมิตรมากถึง 90 รายที่เข้าร่วมโครงการ Sustainable Card Program ทั้งในไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และตลาดอื่นๆ ผู้ถือบัตรจึงสามารถมั่นใจได้ว่าบัตรของพวกเขาผลิตจากวัสดุพลาสติกที่มีความยั่งยืน และการทำงานร่วมกับพันธมิตรในเครือข่ายของเรานี้เองที่ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” ซานดีพกล่าวเสริม

ที่ผ่านมาในปี 2561 ศูนย์ Digital Security Lab ของมาสเตอร์การ์ดได้ริเริ่มโครงการ Greener Payments Partnership กับผู้ผลิตบัตร Gemalto, Giesecke+Devrientและ IDEMIA เพื่อลดการใช้พลาสติกพีวีซีในการผลิตบัตรและต่อมาในปี 2564 ก็ได้เปิดตัวโครงการ Mastercard Card Eco-Certification (CEC) อีกด้วย

“มาสเตอร์การ์ดให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดของเสียรูปแบบต่างๆ ผ่านการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และผสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั่วโลกของเรา เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มีคาร์บอนต่ำ” เอ็ลเล็น แจ็คโควสกี ประธานบริหารฝ่ายความยั่งยืนมาสเตอร์การ์ด กล่าว

การขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคตที่ยั่งยืน มาสเตอร์การ์ดได้ดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนมาตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน การปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรในเครือข่ายในการนำเสนอนวัตกรรมและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เช่น โครงการ Sustainable Card Program เป็นต้น

นอกจากนี้มาสเตอร์การ์ดยังมีโครงการ Priceless Planet Coalition ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าไม้ 100 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2568 สำหรับเอเชียแปซิฟิก มีพันธมิตรกว่า 20 รายในออสเตรเลีย เกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ร่วมสนับสนุนโครงการซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการฟื้นฟูป่าไม้รวมทั้งหมด 18 แห่งทั่วโลก

บริษัทฯยังร่วมงานกับ Doconomy บริษัทฟินเทคในสวีเดนในการพัฒนาฟีเจอร์ Mastercard Carbon Calculator ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โดยประมาณที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของตนได้ผ่านแอปพลิเคชันเครื่องมือดังกล่าวทำงานบนเทคโนโลยี API ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของพันธมิตรได้อย่างสะดวกง่ายดายซึ่งมาสเตอร์การ์ดนำเสนอให้กับพันธมิตรผู้ออกบัตรทุกรายทั่วโลก ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 ฟีเจอร์นี้ยังเป็นโซลูชันฟินเทคด้าน ESG ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน Singapore Fintech Festival Global FinTech Award 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) อีกด้วย

ไทลาน ทูราน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจและกลยุทธ์ลูกค้ารายย่อย กลุ่มธุรกิจลูกค้าเวลธ์และลูกค้าบุคคลธนาคารเอสเอชบีซี (HSBC) กล่าวว่า “การประกาศเป้าหมายของมาสเตอร์การ์ดครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญของธุรกิจการเงิน การหันมาใช้วัสดุที่ยั่งยืน เช่น พีวีซีรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือก หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Bioplastics) เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยพาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นภายใต้กลยุทธ์ด้าน Net Zero ของเอสเอชบีซี เราได้เริ่มใช้พลาสติกรีไซเคิลในการผลิตบัตรใน 28 ตลาดทั่วโลกแล้วอีกทั้งยังได้เพิ่มข้อกำหนดด้านธรรมภิบาลของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนในการผลิตบัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรชำระเงินธุรกิจทั้งหมด ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกได้มากถึง 85 ตัน การสร้างผลลัพธ์ในระดับนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดความร่วมมือจากพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ผมจึงรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ

[1]rPVC, rPETหรือ PLA เป็นตัวอย่างของวัสดุทดแทนพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตบรรจุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และขวดรีไซเคิล

[2]ออสเตรเลีย กัมพูชา บรูไน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ประเทศไทย และเวียดนาม