‘Foxconn’ ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ ‘Apple’ กำลังซื้อที่ดินใน ‘อินเดีย-เวียดนาม’ เพื่อตั้งโรงงาน

ดูเหมือนแผนการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของ ‘Apple’ กำลังเดินหน้าเต็มที่ เพราะบริษัทซัพพลายเออร์รายสำคัญของบริษัทอย่าง Foxconn กำลังเร่งหาที่ดินในการก่อสร้างโรงงานทั้งในอินเดียและเวียดนาม

Foxconn บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวัน ได้ซื้อที่ดินผืนใหญ่ขนาด 1.2 ล้านตารางเมตร บริเวณชานเมืองเบงกาลูรู ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของอินเดีย เนื่องจากทั้ง Apple และ Foxconn กำลังหาทางย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเจอปัญหาความไม่แน่นอน และความตึงเครียดทางการทูตกับสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการผลิต

สำหรับมูลค่าของที่ดินดังกล่าวอยู่ที่ 3 พันล้านรูปี (1,200 ล้านบาท) โดย Bloomberg ได้รายงานว่า Foxconn วางแผนที่จะลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ ในโรงงานแห่งใหม่นี้ ซึ่งโรงงานใหม่นี้คาดว่าจะเริ่มสร้างในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะช่วยสร้างงานประมาณ 1 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ Foxconn ยังกำลังซื้อสิทธิ์การใช้ที่ดินในพื้นที่ 480,000 ตารางเมตร ในจังหวัดเหงะอานของ เวียดนาม อีกด้วย

ทั้งนี้ Foxconn ได้เริ่มผลิต iPhone ในอินเดียตั้งแต่ปี 2019 โดยมีโรงงานในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ ในยังมีซัพพลายเออร์ของไต้หวันอีกสองราย ได้แก่ Wistron และ Pegatron ที่ผลิตและประกอบอุปกรณ์ Apple ในอินเดียเช่นกัน

ปัจจุบัน Apple กำลังพยายามที่จะเจาะตลาดอินเดียอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา Tim Cook ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก็ได้ไปเปิด Apple Store 2 แห่งแรกไปหมาด ๆ ขณะที่ตลาดสมาร์ทโฟนอินเดียถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เนื่องจากมีประชากรมากถึง 1.4 พันล้านคน ขณะที่ยอดขายของ iPhone มีเพียง 6.7 ล้านเครื่อง ซึ่งแปลว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

แม้ว่า Apple จะใช้อินเดียเป็นฐานการผลิต iPhone มานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเครื่องรุ่นเก่ามากกว่า แต่หลังจากที่ Apple มีแผนจะลดการพึ่งพาการผลิตจากจีน ทำให้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Apple ได้ผลิต iPhone 14 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดในอินเดียทันที ปัจจุบันกำลังผลิตของอินเดียคิดเป็น 7% ของสินค้าทั้งหมดทั่วโลก

Prachir Singh นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Counterpoint Technology Market Research มองว่า การที่ Apple มีแผนสำรองหรือการกระจายความเสี่ยง จะช่วยให้บริษัทไม่ต้องพึ่งพาภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งมากเกินไป แต่คงไม่ได้ลดการผลิตของจีนจนเหลือศูนย์