อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 4.9% แล้ว ถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เมษายนปี 2021 เป็นต้นมา โดยปัจจัยหลักคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ 10 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาล่าสุดอยู่ที่ 4.9% แล้ว ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 5% นอกจากนี้ยังต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 5% ด้วย โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำลงนั้นได้ปัจจัยสำคัญมาจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
แต่ถ้าหากดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งตรงกับนักวิเคราะห์คาดไว้
ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 9.1% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากที่สุดเพื่อที่สกัดเงินเฟ้อ โดยขึ้นครั้งละ 0.75% ก่อนที่จะชะลอตัวลงเหลือ 0.25% เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่แค่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ราคาที่อยู่อาศัย ราคาพลังงานอย่างน้ำมัน และรถมือสองพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน ค่าตัดผม ค่าตรวจสัตวแพทย์ และบริการทำสวนก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดีปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังสร้างความไม่ไว้ใจให้กับผู้ดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวนั้นครั้งหนึ่งในอดีตช่วงยุค 1980-1990 เคยปรากฏอยู่ในภาคส่วนใดส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม และได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่
เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาคือตัวเลขเงินเฟ้อจะอยู่ที่ราวๆ 2% เท่านั้น
บทวิเคราะห์จาก Wells Fargo มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงถือว่าอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นมีโอกาสที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์จาก Bank Of America มองว่าตัวเลขเงินเฟ้ออาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯนั้นสบายใจขึ้นว่านโยบายมาถูกทาง อย่างไรก็ดีอาจต้องรอดูการประกาศตัวเลขเงินเฟ้ออีก 1 รอบ และสถาบันการเงินรายนี้มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายน
ที่มา – BBC, The Guardian, CBS News, CNN