- เดินหน้าสร้างการเติบโตในธุรกิจอีโมบิลิตี้และแบตเตอรี่ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเสริมแกร่งอีโคซิสเต็มของบ้านปู
- พร้อมรับมือความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลกบนความยืดหยุ่นคล่องตัวโดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารต้นทุนอย่างรอบคอบ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้จากการขายรวม 1,312 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 44,489 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 56 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,989 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 467ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,837 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 22 จากปีก่อนโดยบริษัทฯ ยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดีอันเป็นผลจากความสามารถในการบริหารจัดการสินทรัพย์และโครงการต่างๆ ให้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องบนความยืดหยุ่นคล่องตัวท่ามกลางความผันผวนของราคาพลังงาน ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในไตรมาสนี้บ้านปูรุกคืบกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นดูราเพาเวอร์ (Durapower) เป็นร้อยละ 65.1 และการลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่อิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) โดยมีกำลังการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารวม 58 เมกะวัตต์ชั่วโมงซึ่งโครงการนี้เราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในบริษัทบริการเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การขยายการเติบโตทั้งธุรกิจกักเก็บพลังงาน และธุรกิจอีโมบิลิตี้ ที่ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของบ้านปูในครั้งนี้จะช่วยเสริมแกร่งอีโคซิสเต็มของบ้านปูในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นการเติบโตที่ต่อเนื่องและการขยายห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจของบริษัทเรือธง บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบ้านปูได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว”
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจเหมือง ยังคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ธุรกิจก๊าซธรรมชาติดำเนินมาตรการเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เพื่อคงความสามารถในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง มีการควบคุมต้นทุนการใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนอันเนื่องจากสภาพอากาศในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้หนาวรุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ยังคงรักษาประสิทธิภาพการผลิตได้ดีตามแผนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเอชพีซีในสปป.ลาวสามารถมีค่าความพร้อมจ่าย EAF ที่สูงถึง 96% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีน สามารถสร้างกำไรแม้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มีผลประกอบการที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และมีค่าความเข้มของแสงที่สูง
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยขยายธุรกิจโซลาร์หลังคาและโซลาร์ลอยน้ำในหลากหลายประเทศในทวีปเอเชียแปซิฟิก รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 217 เมกะวัตต์ขยายธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน ในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กำลังการผลิต 58 เมกกะวัตต์ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในญี่ปุ่นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในDurapowerจากร้อยละ 47.7 เป็นร้อยละ 65.1 และลงทุนใน Green Li-on ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไปจนถึงการลงทุนภายใต้ธุรกิจ e-Mobility ในโอยิกะ (Oyika) ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมีบริการครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ปี 2566 เป็นปีที่บ้านปูก้าวสู่ปีที่ 40 เรายังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศธุรกิจของบ้านปูโดยยึดมั่นในหลักการ ESG ในทุกการดำเนินงานเรามุ่งเน้นการลงทุนธุรกิจที่รองรับอัตราการเติบโตที่สูงในระยะยาว สร้างทั้งคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและที่สำคัญคือมีส่วนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับทุกคนตามที่เราตั้งใจไว้” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.banpu.com และ https://www.facebook.com/Banpuofficialth