ผ่านไปด้วยดีกับงาน AI Empower for Health and Medical Sector 2023 งานสัมมนาสร้างความร่วมมือและผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI ในวงการแพทย์และสุขภาพของไทย ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และ สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย (Health Tech Startup Thailand) โดยงานนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สตาร์ทอัพด้านการแพทย์และสุขภาพ มาร่วมกิจกรรมกว่า 80 ท่าน นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพื่อเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นแบบเรียลไทม์ได้ด้วย
งานสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยคนใหม่ ขึ้นกล่าวต้อนรับเปิดงาน และต่อด้วยกิจกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเวทีให้ความรู้ด้านการสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากรัฐบาล และอธิบายภาพรวมเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์สำหรับสายงานด้านการแพทย์และสุขภาพ เวทีเสวนาด้านการนำ AI มาประยุกต์ใช้และประเด็นด้านการควบคุมการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับการแพทย์และสุขภาพ กิจกรรม Workshop ระหว่างผู้เข้าร่วมงานในหัวข้อการสร้างความร่วมมือและผลักดันการใช้เทคโนโลยี AI ในธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี การเติบโตของธุรกิจให้ก้าวเข้าสู่แหล่งเงินทุนที่เหมาะสมต่อทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ทีม AI Startup ด้านการแพทย์และสุขภาพทั้ง 10 ทีมขึ้นมานำเสนอผลงาน ไอเดียและนวัตกรรมที่น่าสนใจแก่นักลงทุน กลุ่มลูกค้าที่สนใจด้าน AI รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในวงการ AI Health Tech และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Networking เพื่อเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจได้
ภาครัฐหนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ หวังสร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจ
นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวบรรยายภาพรวมการสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากภาครัฐว่าในฐานะที่ NIA เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น “Focal Facilitator” ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยีและธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเงินทุนสนับสนุนของ NIA นั้นเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาต่อยอดผลงานจากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่ง NIA ได้ร่วมพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจการแพทย์และสุขภาพผ่านทุนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า หรือ Thematic Innovation ซึ่งจากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงนับว่าเป็นความท้าทายของทั้งผู้ประกอบการ และเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมไปด้วยกัน
และได้รับเกียรติจาก นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ โฆษกรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์สำหรับสายงานด้านการแพทย์และสุขภาพว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI กับการแพทย์ได้เริ่มพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนามาจาก 3 องค์ความรู้หลักสำคัญคือ ด้านเทคโนโลยี AI ด้านการแพทย์ และด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ และในยุคที่ AI กำลังเฟื่องฟูนี้ Chatbot ในวงการการแพทย์และสุขภาพเป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่จับตามองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการเติบโตได้ จำเป็นต้องพัฒนาให้บุคลากรมีแนวคิดในการยอมรับเทคโนโลยี (Accept) นำเทคโนโลยีมาใช้ (Adopt) และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม (Adapt) ส่งผลให้เทคโนโลยีสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้
คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยคนล่าสุด และ CEO and Co-founder Dietz.asia ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียนและของโลก จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับการแพทย์และสุขภาพของไทยต้องการให้ทุกฝ่ายใน Ecosystem มาร่วมพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้าน AI ทางการแพทย์และสุขภาพ อีกทั้งยังสามารถนำเอาองค์ความรู้มาพัฒนาศักยภาพการแพทย์และสุขภาพ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศได้
การนำ AI มาใช้จริงในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้พัฒนา
ในช่วงนี้ได้รับเกียรติจากผู้ร่วมเสวนาสองท่าน ได้แก่ ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เครือโรงพยาบาลเอกชนระดับต้น ๆ ของ South East Asia ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้จำนวนมาก และคุณดนัย เทพธนวัฒนา Account Technology Strategist Microsoft ตัวแทนจากองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่ร่วมลงทุนใน OpenAI
ปัจจุบันทาง Microsoft ได้มีการลงทุนและพัฒนา AI มาอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ CHAT GPT 4 สามารถเข้าใจรูปภาพได้และมีชุดข้อมูลความเข้าใจที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ AI จึงเป็นจุดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในฝั่งของทาง BDMS ก็มีการใช้ AI มานานแล้วโดยเริ่มใช้กับเรื่องที่ต้องการความแม่นยำ ลดความผิดพลาดและสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การอ่านผล X-ray ปอด เต้านม สมอง และอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์การระบาดของโรคในระดับภูมิภาคหรือประเทศ จากผลของห้องแลปที่มีอยู่ในระบบอีกด้วย
โดยประเด็นสำคัญที่วิทยากรให้ความสนใจ คือ เรื่องฐานข้อมูลที่จะต้องมีมากพอและเชื่อถือได้ ข้อมูลจำเป็นต้องมีที่มาที่ไป จึงจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ ทั้งนี้ควรจะให้ความสำคัญกับเส้นทางของผู้บริโภคว่าจะสามารถนำ AI มาปรับใช้ในส่วนไหนอย่างไรได้บ้างให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนการให้บริการหลังบ้านของโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยมองในประเด็นที่ทำให้กระบวนการให้บริการง่ายและสะดวกขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็น Tourist Destination การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญหากพัฒนาแล้วนำ AI เข้ามาช่วยในส่วนนี้ให้ง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้นก็จะเป็นส่วนช่วยลดช่องว่างการสื่อสารได้
ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมได้อภิปรายกันถึงปัญหาหลักในการนำ AI มาใช้ด้านการแพทย์และสุขภาพ คือ เรื่องข้อมูลที่มีอยู่ในตอนนี้น้อยเกินไป ขาดความน่าเชื่อถือ และยังขาดมาตรฐาน โดยเสนอให้มีตัวกลางในการควบคุมดูแลและสนับสนุนเรื่อง SharingData รวมถึงการทำ Data Standardization การใช้เทคโนโลยีมาช่วยเก็บและจัดการข้อมูลให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ประเด็นการควบคุมและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ
นางภาวิณี ส่งเสริม เภสัชกรชำนาญการ และนายปริวัฒน์ ชูชาติ วิศวกรปฏิบัติการ (ชีวการแพทย์) จากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา โดย กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาทางกองเครื่องมือแพทย์ได้มีการปรับการควบคุมตามระดับความเสี่ยง โดยเครื่องมือแพทย์ที่เป็น AI หรือ software ทางการแพทย์จะจัดอยู่ในประเภท 2 และ 3 เป็นประเภทที่ต้องใช้ใบรับแจ้งรายการละเอียด และจะต้องจัดเตรียมเอกสารแบบ Common Submission Dossier Template (CSDT) เพื่อยื่นประเมิน โดยจะมีศูนย์ส่งเสริมการประกอบการเครื่องมือแพทย์คอยให้คำปรึกษา และปัจจุบันกำลังพัฒนา Regulatory sandbox เพื่อสร้างแนวทางกำกับดูแล AI software โดยเฉพาะ
นพ.อนุวัตร สุขสมานพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ด้านเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า แพทยสภาได้เล็งเห็นปัญหาเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจใน technology และการใช้ AI จึงกำลังสร้างหลักสูตรเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจในด้าน AI และ Digital services รวมไปถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับกฎหมายฉบับใหม่เรื่อง Telemedicine ที่เป็นกฎหมายเฉพาะ ให้ Virtual Clinic สามารถให้บริการบน Platform ได้โดยไม่ต้องอยู่ที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการผลักดันการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปใช้งานต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวว่าทาง ETDA ก็กำลังศึกษาและพัฒนาหลักการในการกำกับ AI อย่างไรให้ยืดหยุ่นพอที่จะไม่ไปสกัดกั้น Innovation และเน้นออกกฎในแนวทางส่งเสริมก่อน เช่น กฎหมายส่งเสริมด้าน Data sharing และส่งเสริมให้ออกกฎหมายเน้นทดสอบด้าน Performance มากกว่าด้าน Process เป็นต้น
ประเด็นที่ยังจำกัดในการนำ AI มาใช้ คือ
- ประเด็นด้านการขึ้นทะเบียน โดยทางกองเครื่องมือแพทย์จะรับขึ้นทะเบียนเฉพาะ AI แบบ Lock (AI ที่เรียนรู้เสร็จเรียบร้อย ก่อนขึ้นทะเบียนและออกสู่ตลาด) และ AI ที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาหรือวินิจฉัยเท่านั้น
- ประเด็นด้านการขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ในการประเมินเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการตรวจและให้คำปรึกษาเฉพาะด้านอยู่มาก
- ประเด็นการกำหนดมาตรฐานของข้อมูล ให้มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาใช้
- ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวที่ยังต้องพัฒนาการควบคุมต่อไป
แชร์มุมมองและประสบการณ์ในการทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ทางการแพทย์
อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ช่วงที่จะเชิญบริษัท provider ด้าน AI ทางการแพทย์ขึ้นมาแชร์มุมมองและประสบการณ์ ในการพัฒนาธุรกิจที่มีเทคโนโลยี AI เป็นแกนหลักในการสร้างสรรนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทย
โดยเริ่มจาก ผศ.ดร. ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร อาจารย์ประจำ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ CEO and CTO, Sense AI Company Limited (SensAI) ที่เริ่มต้นจากทีมวิจัยชื่อ Interfaces เน้นศึกษาเกี่ยวกับการวัดคลื่นสัญญาณสมอง และการวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ ทางร่างกาย ไปจนถึงเริ่มศึกษาด้าน AI โดยได้กำหนดแนวทางของทีมวิจัยให้เหมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างด้าน Physical กับ Digital และตั้งแต่ช่วง 2020 เป็นต้นมา sensor ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งเพื่อใช้วัดและเก็บข้อมูลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึง infrastructure ต่าง ๆ ที่มีราคาถูกลง จึงเป็นโอกาสให้ผู้ให้บริการสร้างสรรบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น โดยตัวอย่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ทาง Sense AI พัฒนาอยู่มีดังนี้
-AI in Brain-Computer Interfaces :วัดคลื่นสัญญาณไฟฟ้าสมอง และนำมาจับการประมวลผลว่าสมองมีการ Commands อะไร และสามารถรับ Feedbacks ได้หลายรูปแบบ เมื่อมีการวัดและ Feedbacks เรื่อย ๆ ทำให้ระบบสามารถจำแนกประเภทสัญญาณสมองได้ นอกจากนี้ AI ยังเข้ามาช่วยกำจัด noise หรือคลื่นสัญญาณที่ไม่เป็นประโยชน์ให้อัตโนมัติ
-AI in Sleep Medicine :ใช้สัญญาณ Sensor ช่วยวัดและวิเคราะห์การนอนโดยนำมาเทียบกับมาตรฐาน Sleep Test สากล โดยนำ AI มาช่วยในการอ่านค่า ช่วยประหยัดเวลาให้แพทย์ในการวิเคราะห์ผล
-AI in Biomedical Imaging :OCTAveให้ AI ช่วยประมวลผล รูปภาพที่แพทย์ร่างขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์สวยงามมากขึ้น และยังมี CB-AI ดูเซลล์ต่าง ๆ ในเนื้อเยื่อถึงการตอบสนองของการรักษา
-AI in Remote Healthcare :เนื่องจากในช่วง COVID-19 จึงพัฒนาเป็น Telemed Platform ที่ใช้ AI มาช่วย ไม่ว่าจะเป็น Pacman AI ตัวช่วยจับค่า vital signs ต่าง ๆ มากรอกเก็บเป็นประวัติให้อัตโนมัติ หรือจะเป็น Platform Telemedicine CHIVID ที่เป็นตัวช่วยในการรักษาคนไข้ทางไกลมาแล้วมากมาย
ดร. วินน์ วรวุฒิคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง BOTNOI Group
BOTNOI Group มีพื้นฐานหลักมาจากบริษัทที่ให้บริการด้าน AI และมีลูกค้าทางด้าน Healthcare อยู่มากจึงพัฒนาเป็น BOTNOI Health ที่ให้บริการ AI สำหรับการแพทย์และสุขภาพโดยเฉพาะ และมีแนวทางที่จะเป็นเสมือนสะพานที่จะเชื่อมโยงกลุ่ม Healthtech Startup ต่าง ๆ กับโรงพยาบาล โดยมองเห็นถึงการแลกเปลี่ยนจุดแข็งของตัวเองที่ทั้งสองกลุ่มมีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ BOTNOI Health ได้แก่
-Communication Service: Chatbot-Voice-Video ที่ช่วยในการคัดกรองคนไข้ที่โรงพยาบาล การนำ AI มาช่วยตรวจสอบสิทธิประกันด้วยการโต้ตอบด้วยเสียง และการนำ AI มาเป็นล่ามแปลพร้อมเพื่อใช้ในการสื่อสารทางการแพทย์
-Assist Service: Medical device/ AI mirror ช่วยตรวจจับเครื่องมือแพทย์ ช่วยคนตาบอดในการเลือกเสื้อผ้า และการนำ AI มาช่วยสรุปใจความสำคัญข้อความ
-Restore/Therapy: การนำ AI มาตรวจจับโครงกระดูกเพื่อช่วยในการทำกายภาพ และ Voice Recover การนำ AI มาช่วยเติมเต็มเสียงของผู้ป่วยที่พูดได้ลำบาก
-Training: การนำ AI Chatbot มาเป็นคนไข้เพื่อใช้ในการฝึกนักศึกษาแพทย์
คุณเสฐียรพงศ์ จึงอุดมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิสทิงท์ จำกัด
ปัจจุบันความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว และวิธีการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางต่าง ๆ ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้ อีกทั้งยังมีประเด็นปัญหาด้าน Digital security ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนก่อนโอนเงินในวงเงินที่เกินกำหนด โดยข้อดีที่นำ Biomatrix มาใช้นั้นมีความปลอดภัยแต่ยังมีปัญหาสร้างความยากลำบากให้ผู้มีปัญหาทางสายตาที่ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
ทาง InDistinct จึงพัฒนานำเทคโนโลยี AI ตรวจจับข้อมูลบนบัตรประชาชนได้สมบูรณ์ 100% ผ่านการใช้โทรศัพท์สแกนบัตรประชาชน ซึ่งนอกจากจะปลอดภัย และง่ายต่อการใช้งานสำหรับทุกฝ่ายแล้ว ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าเทคโนโลยี Face detection
คุณชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด Perceptra มี mission ที่จะนำ AI มาเชื่อมกับวงการแพทย์ทั้งในไทยและ South East Asia และทำราคาให้จับต้องได้ โดยผลิตภัณฑ์ปัจจุบันมี 2 ตัว คือ Inspectra CXR ใช้ตรวจวิเคราะห์การ X-ray ปอด และ Inspectra MMG ใช้ตรวจวิเคราะห์ Mammogram และกำลังพัฒนา Inspectra CTB สำหรับตรวจวิเคราะห์ CT brain
และได้กล่าวเสริมถึง 5 ข้อกังวลในการที่ผู้ใช้งานจะเลือกใช้ AI มีดังต่อไปนี้
- Accuracy & Validation มีความถูกต้องแม่นยำไม่ว่าจะใช้ในเงื่อนไขที่ต่างกัน และตอบโจทย์ผู้ใช้งาน
- Solution Integration ใช้งานง่าย ยืดหยุ่นสามารถ customized ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
- Security and privacy มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสอดคล้องตามกฎ
- IT burden มีทีมพร้อมsupport ให้บริการการใช้งาน และอบรมการใช้งาน
- Cost ราคาจับต้องได้สอดคล้องและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ บริการ และผู้ใช้งาน
รวม Startup สาย AI Health Tech มา Pitching สู่สายตานักลงทุน
ในกิจกรรมรองสุดท้ายได้เปิดโอกาสให้ Startup ที่กำลังทำเกี่ยวกับด้าน AI ทางการแพทย์และสุขภาพ มาร่วมนำเสนอผลงาน หรือ Pitching โดยผ่านการคัดเลือกมาทั้งหมด 10 ทีมด้วยกัน
- SensAI – พัฒนาระบบ AI และ sensor ติดตามข้อมูลสุขภาพและวิเคราะห์ความผิดปกติ เรียนรู้พฤติกรรม เพื่อรายงานความผิดปกติและแจ้งเตือนให้แพทย์ทราบ ช่วยให้ได้รับการรักษาทันเวลา และราคาไม่แพงมาก คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
- Botnoi group – มีเทคโนโลยีด้าน AI ครบทั้ง 5 ด้านดังนี้ NLP , Data Science , Motion , Visual , Audio โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น AI Screening Kiosk พัฒนาพยาบาลเสมือนจริงใช้คัดกรองโรค และ Chatbot พัฒนาให้สามารถให้คำปรึกษา สามารถคุยเรื่องสุขภาพจิตได้ทั้งแชทและโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังโต้ตอบภาษาอื่น ๆ ได้อีกด้วย
- Aot (Alert of thing) – พัฒนา wrist band AI for health ที่มี sensor เพียง 3 ตัว ตรวจสอบชีพจร ความดัน และอุณหภูมิ หากมีการจับค่าที่เป็นอัตราย wrist band จะแจ้งเตือนทันที รวมไปถึงการสแกน QR เพื่อดูประวัติข้อมูลเจ้าของได้ และยังสามารถวัดระดับน้ำตาลได้เพื่อช่วยเตือนผู้ป่วยเบาหวาน
- LOCKSi – Medipodสถานีโทรเวชกรรม (Portable Telemedicine Platform) โดยจะเชื่อม sensor และการช่วยวิเคราะห์ผลด้วย AI กับอุปกรณ์การแพทย์ และระบบ video conference กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลนำไปสู่การรักษาแบบ Telemedicine ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกที่ ทุกเวลา
- H LAB – นำ AI เข้ามาช่วยจัดตารางเวรของบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากสามารถจัดข้อมูลที่ซับซ้อนได้ และช่วยร่นระยะเวลาในการจัดตารางแบบปกติ ซึ่งใช้เวลา 2-3 วันในการจัดตารางในแต่ละเดือน และนอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระให้พยาบาลได้มี Work life balance มากขึ้น
- PB Biomed – ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีในการกรองสารพันธุกรรม และถอดรหัสยีนส์จากเลือด เพื่อรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็ง โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดกับบริษัทAI เพื่อนำไปสร้างนวัตกรรมอื่น ๆ ได้
- Famme Works – พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเตียงนอนด้วยเทคโนโลยี pressure re-balancing ใช้ Sensor ในการตรวจจับและปรับน้ำหนักกดทับของเตียงให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือการกดทับของแผลผู้ป่วย
- EYEQUILA – พัฒนาเกมช่วยออกกำลังกายตาโดยใช้ AI tracking eye ซึ่งจะเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของดวงตาเป็นการเคลื่อนไหวของเกมช่วยกระตุ้นการทำงานของตา โดยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์โดยใช้การเคลื่อนไหวของสายตาเป็นคำพูดแสดงความรู้สึกของผู้ป่วยได้
- Bederly – พัฒนาระบบ Bederly ecosystem เชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ระดับตำบล ชุมชน บุคคล ให้ข้อมูลเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยใช้ Portable Vital Signs ในการเก็บข้อมูลลงในแอปพลิเคชั่นเพื่อให้แพทย์จะมีสามารถ monitor ผู้ป่วยได้ รวมไปถึงใช้ AI ในการช่วยแพทย์คัดกรองและติดตามสุขภาพของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ
- Brain Dynamics – พัฒนาระบบและบริการตรวจการนอนหลับให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นสามารถตรวจได้ทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน โดยข้อมูลจากการตรวจ สามารถนำมาเป็น Data ให้ AI ช่วยแพทย์วิเคราะห์การอ่านผลของคนไข้ได้ไวมากขึ้น
สำหรับงาน AI Empower for Health and Medical Sector 2023 ที่เกิดจากความร่วมมือของ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางภาครัฐและเอกชน ผู้ให้บริการ ภาคธุรกิจและผู้ใช้บริการ รวมไปถึงนักลงทุน ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านการแพทย์ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ