หลังจากที่ ดอลฟิน วอลเล็ท (Dolfin Wallet) โบกมือลาตลาดไทยตามรอย เจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL) ตลาดอีวอลเล็ทก็เหลือผู้เล่นหลัก ๆ เพียง 3-4 รายเท่านั้น และเบอร์ 1 ของตลาดในนาทีนี้คือ ทรูมันนี่ (True Money) ที่ให้บริการมาแล้ว 8 ปี และก้าวต่อไปจากนี้ของทรูมันนี่ คือการเทียบชั้นกับ ธนาคาร และกำลังมองถึงความเป็นไปได้ของ เวอร์ชวล แบงก์ (Virtual Bank)
ดันแพลตฟอร์มเป็นมากกว่าอีวอลเล็ท
อยู่ในตลาดมานานถึง 8 ปี สำหรับ ทรูมันนี่ (True Money) จนปัจจุบันมีผู้ใช้ในไทยถึง 27 ล้านราย โดยมีแอคทีฟยูสเซอร์ราว 17-18 ล้านคน/เดือน มีจุดรับชำระของแพลตฟอร์มมีกว่า 7 ล้านจุดมากสุดในประเทศไทย และสามารถใช้จ่ายบนร้านค้าออนไลน์กว่า 1.3 ล้านร้านค้าทั่วโลก นอกจากนี้ ยังสามารถใช้จ่ายในต่างประเทศได้กว่า 40 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลี และจีน ที่จะสามารถชำระได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
ปัจจุบัน สามารถแบ่งบริการของทรูมันนี่ได้ 3 กลุ่ม ซึ่งครอบคลุมแทบไม่ต่างจากธนาคาร ได้แก่
- บริการในกลุ่มใช้จ่าย: ทั้งการจ่ายออนไลน์ ออฟไลน์ โอนเงิน ใช้จ่ายต่างประเทศ และวงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง
- บริการในกลุ่มการเงิน: บริการด้านการออม ลงทุน ประกัน และสิทธิประโยชน์หลากหลาย
- บริการสนับสนุนธุรกิจ: บริการสนับสนุน SME และผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ระบบสมาชิก และฟีเจอร์โปรโมตร้านค้า เป็นต้น
แม้จะมีบริการทางการเงินที่หลากหลาย มีธุรกรรมต่อวันหลายสิบล้านผ่านแอปพลิเคชัน แต่การใช้บริการหลักจะเป็น ดิจิทัลเพย์เมนต์ เช่น การซื้อแอปพลิเคชัน, ชำระค่าบริการคอนเทนต์ต่าง ๆ , เติมเงินเกม รวมถึงการซื้อสินค้าบนอีมาร์เก็ต ส่วนผู้ที่เปิด บัญชีเงินฝากและลงทุนมีเพียง 2.5 ล้านบัญชี เท่านั้น ส่วนบริการ ใช้ก่อนโอนที่หลัง มีลูกค้า 1.2-.1.3 ล้านราย
ดังนั้น ภารกิจของทรูมันนี่คือ ดันบริการอื่น ๆ ให้ผู้ใช้เก่าได้ใช้ ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มฐานผู้ใช้ใหม่ ซึ่งปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของทรูมันนี่จะเป็นกลุ่ม Gen Y มีสัดส่วนมากถึง 40% เฉลี่ยมีการเติมเงินเข้าระบบราว 3-4 พันบาท มีการใช้งานเฉลี่ย 20 ครั้ง/เดือน
ทุ่มงบดึงลิซ่าหวังเพิ่มผู้ใช้เป็น 35 ล้านราย
มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา การเติบโตของทรูมันนี่เป็นแบบออร์แกนิกซึ่งเกิดจากการแนะนำบอกต่อแบบปากต่อปาก เนื่องจาก ทรูมันนี่ยึดหลักว่า ต้องทำให้การเข้าถึงทำได้ง่าย มีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด และต้องเกิดคุณค่าในทุก ๆ การใช้งาน รวมถึงแพลตฟอร์มต้องมีความปลอดภัย นอกจากนี้ การมาของโควิดก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้คนใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายปีนี้ของทรูวอลเล็ทคือ เพิ่มผู้ใช้เป็น 35 ล้านรายภายในสิ้นปี และมีแอคทีฟยูซเซอร์ 20% โดยมนสินี ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่สูงแต่มั่นใจว่าเป็นไปได้ เพราะในปีนี้แบรนด์ได้ดึง ลิซ่า แบล็กพิงก์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น
“เราต้องการสื่อว่าแบรนด์เราก็ใหญ่ เป็นระดับ Top เหมือนกับลิซ่า และเชื่อว่าภาพของลิซ่านั้นเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม โดยการดึงลิซ่ามาเราลงทุนหนักมาก และเราจะเข้าถึงทุกช่องทางทั้งออนไลน์ ออฟไลน์”
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ทรูมันนี่ต้องการเข้าถึงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- เด็ก วัยรุ่น อายุต่ำกว่า 13 ปี: ที่จะเป็นรากฐานใหม่ของแพลตฟอร์ม
- เฟิร์สจ็อบเบอร์: เพื่อขยายการเข้าถึงการลงทุน
- sme รายย่อย: เพื่อขยายบริการกลุ่มสินเชื่อ
นอกจากนี้ ทรูมันนี่มองว่ากลุ่ม ต่างจังหวัด เป็นอีกส่วนที่ยังเติบโตได้ แต่ที่ปัจจุบันผู้ใช้งานหลักของทรูมันนี่เป็นคนกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เพราะมีจุดชำระที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังพร้อมที่จะใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ
“เรามองว่ามันเป็นจังหวะเวลาที่ใช่สำหรับการใช้พรีเซ็นเตอร์ระดับโลกครั้งแรก เพราะที่ผ่านมา 90% ลูกค้าใช้เราโดยไม่เกี่ยวกับแคมเปญการตลาด ซึ่งตอนนี้เราไม่ใช่แค่ต้องการดึงลูกค้าใหม่ แต่โจทย์ต้องทำให้ลูกค้าเก่ารู้ว่าเรามีบริการที่หลากหลาย และลอยัลตี้จะยิ่งแข็งแกร่งกว่านี้ ถ้ารู้ว่าเรามีเฟีเจอร์เยอะ ไม่ใช่แค่จ่ายเงิน แต่เป็นไฟแนนเชียลแพลตฟอร์ม”
ก้าวข้ามวอลเล็ทสู่การเป็น เวอร์ชวล แบงก์
แม้ว่าจำนวนผู้เล่นในตลาดอี-วอลเล็ทจะลดลง แต่ไม่ได้ทำให้นัยการแข่งขันแตกต่างไป เพราะแพลตฟอร์มก้าวข้ามการเป็นอีวอลเล็ทไปแล้ว และปัจจุบันก็มีจำนวนการใช้งานไม่ต่างจาก ธนาคาร ซึ่งแพลตฟอร์มพยายามจะหา ช่องว่างที่ธนาคารไม่มี มาพัฒนาเป็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อมาตอบสนองลูกค้า
“ในตลาดอี-วอลเล็ทเราคิดว่าเราเป็นอันดับ 1 มีมาร์เก็ตเเชร์เกิน 90% และตอนนี้เราไม่ได้เทียบตัวเรากับตลาดวอลเล็ท แต่เราเทียบกับธนาคาร จะบอกว่าเป็นซูเปอร์แอปฯ ก็ได้ แต่เป็นซูเปอร์แอปฯ ทางด้านไฟแนนซ์”
เป้าหมายภายในของทรูมันนี่ ก็คือการทำ IPO รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะผันตัวเป็น เวอร์ชวล แบงก์ (Virtual Bank) ซึ่งทรูมันนี่มองว่าแพลตฟอร์มีหลายคุณสมบัติที่จะทำเวอร์ชวล แบงก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริการต่าง ๆ ที่คล้ายกับธนาคาร รวมถึงฐานลูกค้าที่แข็งแรง ดังนั้น ทรูมันนี่จึงต้องเร่งสร้างการเติบโตที่แข็งแรงมากพอที่จะทำ IPO และการเป็นเวอร์ชวล แบงก์ในอนาคต
เป้าใหญ่ดึงคนไทยครึ่งประเทศเป็นแอคทีฟยูสเซอร์
ปัจจุบัน รายได้จากกลุ่มเพย์เมนต์ถือเป็นสัดส่วนหลัก ส่วนกลุ่มอื่น ๆ อาทิ การกู้ยืม, การลงทุน อยู่ในจุดที่สามารถทำกำไรให้กับบริษัทได้แล้ว นอกจากนี้ อัตราหนี้เสียก็ยังน้อยมาก โดยมองว่า ภายใน 2 ปี กำไรจากบริการทางการเงินจะมีสัดส่วนถึง 50% จากปัจจุบันคิดเป็น 10% นอกจากนี้ 50% ของประชากรไทยต้องเป็นแอคทีฟยูสเซอร์ที่ใช้งานทรูมันนี่วอลเล็ททุกเดือน และ 20% ต้องใช้บริการทางการเงินของแพลตฟอร์ม
“แน่นอนว่าเราอยากเป็นเวอร์ชวล แบงก์ แต่ตอนนี้กฎยังไม่ชัดเจน ถ้าเกณฑ์กำหนดมันไม่ยากเกินไป เราก็มีโอกาส ซึ่งถ้าเราได้ทำเวอร์ชวล แบงก์ ในแง่ประโยชน์ของลูกค้าปลายทางก็จะได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ และเราก็สามารถขยายความเสี่ยงในการปล่อยกู้ไปยังกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เซกเมนต์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น”