จีนปั้นแผน 5 ปี ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ทั้งทางด่วน รถไฟความเร็วสูง สนับสนุน GDP โตเพิ่ม

ภาพจาก Unsplash

จีนได้จัดทำแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะยังลงทุนในทางด่วน รถไฟความเร็วสูง และสนามบินต่อไป หลังจากปี 2022 ที่ผ่านมาได้มีเม็ดเงินลงทุนสร้างสถิติสูงสุดไปแล้วก็ตาม เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดียังมีความกังวลถึงหนี้ที่สูงขึ้นหลังจากนี้

จีนได้จัดทำแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะยังลงทุนในทางด่วน รถไฟความเร็วสูง และสนามบินเพิ่มเติม ซึ่ง GDP ของประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมานั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นเครื่องยนต์หลักด้วยซ้ำ โดยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้ที่การเติบโตของการลงทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 5.1%

การลงทุนดังกล่าวนั้นจะมีสร้างทางด่วนเพิ่มให้ได้อีก 11% เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งจะทำให้ปี 2027 จีนมีทางด่วนยาวถึง 130,000 กิโลเมตร ซึ่งหนึ่งในโครงการดังกล่าวคือทางด่วนในเมือง Wenzhou มณฑล Zhejiang ที่จะลดระยะเวลาการเดินทางเหลือแค่ 1 ชั่วโมง จากเดิมอยู่ที่ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ทางด้านการลงทุนในรถไฟความเร็วสูง ภายในปี 2027 จีนจะมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงยาวมากถึง 53,000 กิโลเมตร เทียบกับในช่วงปลายปี 2022 อยู่ที่ 42,000 กิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่สนามบินจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 280 สนามบิน จากเดิมที่มีแค่ 254 สนามบินเท่านั้น

ปลายปี 2022 ที่ผ่านมานั้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีนทำสถิติสูงถึง 3.8 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 18.62 ล้านล้านบาท และคาดว่าในแผนการลงทุน 5 ปีดังกล่าวนี้จะทำให้เม็ดเงินดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติเดิมด้วยซ้ำ

ในรายงานของ China Daily ที่ได้อ้างอิงบทวิเคราะห์จาก CITIC Securities เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาชี้ว่า การลงทุนดังกล่าวถือเป็นกุญแจสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจีนในระยะสั้น และการลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดนั้นกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

แนวความคิดการลงทุนของรัฐบาลจีนนั้นคาดหวังว่านอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จากการทำให้ GDP ในแต่ละไตรมาสเติบโตได้ แต่ก็คาดหวังว่าระยะยาวนั้นเศรษฐกิจจีนก็จะเจริญเติบโตจากการลงทุนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และทำให้รัฐบาลขายที่ดินได้ในระยะยาวจากราคาที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีปัจจัยขับเคลื่อนดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงทำให้การพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้นเต็มไปด้วยหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขายที่ดินซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นยังคงตกต่ำ จากการเข้าปราบปรามภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา

โดยหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทางด่วนของจีนในปลายปี 2022 นั้นอยู่ที่ 7.49 ล้านล้านหยวน ขณะที่หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเครือข่ายรถไฟความเร็วของสูงนั้นอยู่ที่ 6.11 ล้านหยวน ทำให้หนี้สินเหล่านี้รวมกันนั้นมากถึง 13.6 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึงราวๆ 66.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11% ของ GDP จีน ซึ่งอาจเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจจีนได้

ที่มา – Nikkei Asia, Global Times