วีโร่เปิดตัวคู่มือ “GREENWATCHING” เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สื่อสารความยั่งยืน-ช่วยนักสื่อสารไม่ติดกับดัก “การฟอกเขียว”

เนื่องในวันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก วีโร่ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และการตลาดดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวคู่มือแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือและแนวทางเพื่อช่วยให้นักการสื่อสารและนักประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจและวางแผนรับมือกับความซับซ้อนในการสื่อสารด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหลีกเลี่ยงการตกหลุมพรางการฟอกเขียว (greenwashing)  และการปกปิดข้อมูลเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (green hushing)

คู่มือดังกล่าวระบุถึงความสำคัญของการสื่อสารด้านความยั่งยืนของแบรนด์ที่ต้องให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงและมีประสิทธิภาพมากพอ รวมถึงสาเหตุที่กลยุทธ์การฟอกเขียวมักพบได้บ่อยครั้งและสร้างปัญหา ไปจนถึงแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่แบรนด์สามารถนำไปใช้เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า แบรนด์ไม่ได้ใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบบฟอกเขียว

Greenwashing หรือ การฟอกเขียว เป็นกลยุทธ์กล่าวอ้างของบริษัทหรือองค์กรเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด กล่าวเกินจริง หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงว่ามีนโยบายและแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างอุปสรรคสำคัญให้บริษัทอื่นๆ ที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยผลสำรวจโดย The Harris Poll ระบุว่า 59% ของผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติ ยอมรับว่า ได้กล่าวเกินจริงเกี่ยวกับกิจกรรมด้านความยั่งยืนขององค์กร หรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่ Green hushing นั้นเป็นการที่แบรนด์เลือกที่จะเงียบเฉย ไม่เผยข้อมูลโครงการด้านความยั่งยืน เนื่องจากกลัวข้อกล่าวหาเรื่องการฟอกเขียว

สำหรับธีมวันสิ่งแวดล้อมโลกในปี 2566 นี้ เน้นรณรงค์ให้ผู้คนหยุดสร้างมลพิษจากขยะพลาสติก หรือ #StopPlasticPollution ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดให้เป็นภูมิภาคที่ทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุด นอกจากนี้ ภูมิภาคนี้ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากที่สุดด้วย ทำให้สายตาของผู้บริโภคต่างจับจ้องไปที่แบรนด์ต่างๆ ว่าต้องช่วยปกป้องอนาคตของพวกเขาให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงเหล่านี้ให้มากขึ้น

ผลการศึกษาหลายฉบับยังแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาตระหนักและให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น โดยผลสำรวจในปี 2564 แสดงให้เห็นว่า เกือบ 80% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาด เช่น สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง นอกจากนี้ยังหันมาเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเลือกผลิตภัณฑ์ที่สามารถ “ตรวจสอบที่มาและมีความโปร่งใสได้”

ขณะที่ผลสำรวจในปี 2565 โดย Rakuten Insight ยังพบว่า 76.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยยินดีที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมความยั่งยืน ในขณะที่ 61.7% ได้เริ่มนำ “แนวทางปฏิบัติเพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน” มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว เมื่อมองในระดับภูมิภาค ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 44 ของโลกในรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ

แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคที่ต้องการความยั่งยืนเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนในตลาดเอเชียกลับมีไม่มากนัก เหตุผลประการหนึ่งคือ นักการสื่อสารจำนวนมากยังคงเผชิญปัญหาในการจัดระบบการสื่อสารข้อมูลในเรื่องความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงวิธีการให้คำแนะนำแก่แบรนด์และผู้บริโภคในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ วีโร่ตระหนักถึงอุปสรรคข้อนี้ดี จึงได้พัฒนาคู่มือ “Green-watching” ขึ้นมา เพื่อกำหนดขอบเขตในการทำงาน แนวปฏิบัติที่เหมาะสม และตัวอย่างอ้างอิงเพื่อช่วยให้นักสื่อสารจัดทำแผนงานการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ

นายวูควน เหงียน มาส รองประธานฝ่ายวัฒนธรรมและแบรนด์ประจำภูมิภาคอาเซียนของวีโร่ และผู้ร่วมร่างคู่มือ “Green-watching” ย้ำถึงความสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการสื่อสารด้านความยั่งยืน โดยกล่าวว่า “องค์กรที่ต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากขึ้น ต้องเผชิญปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลการสื่อสารและแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนมีความสอดคล้องกัน ซึ่งการสื่อสารข้อมูลอย่างถูกต้องย่อมสร้างความน่าเชื่อถือต่อลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ในทางกลับกัน การถูกวิจารณ์และกระแสกดดันเนื่องจากการที่แบรนด์สื่อสารข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง จะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเสียหายและกระทบกับรายได้ของบริษัทในท้ายที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (ESG) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบรนด์ต่างๆ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งหรือได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ยากขึ้น ดังนั้น การสื่อสารข้อมูลอย่างจริงใจและถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการสื่อสารด้านความยั่งยืน และองค์กรต่างๆ จึงกำลังมองหาการสื่อสารด้านความยั่งยืนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกหลุมพรางของการฟอกเขียวหรือการเงียบเฉยต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม”

วีโร่เริ่มเดินหน้าในเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยในเดือนกันยายน 2565 วีโร่ถือเป็นเอเจนซี่รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ลงนามในปฏิญญา Clean Creatives เพื่อปฏิเสธไม่ร่วมงานกับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล

“เราอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนที่สำคัญด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ดิฉันเชื่อว่า ถึงเวลาที่เราต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการสื่อสาร เรามีหน้าที่รับผิดชอบในการเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วยการกระตุ้นและส่งเสริมให้แบรนด์นำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไปปรับใช้ ดิฉันหวังว่าคู่มือนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้แบรนด์และองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนหันมาเดินหน้าด้านความยั่งยืนร่วมกันและสร้างสรรค์ความร่วมมือที่มีความหมาย พร้อมจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโครงการและการสื่อสารไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” นางสาวปรางทอง จิตรเจริญกุล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายดูแลลูกค้าที่ วีโร่  ประเทศไทย กล่าว โดยนางสาวปรางทองเคยทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารงานอนุรักษ์ที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาวิชาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือ Green-watching ของวีโร่ ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท vero-asean.com  โดยคู่มือฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ทำงานในแวดวงด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึก กลยุทธ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อพัฒนาวิธีการสื่อสาร ตลอดจนแนวทางในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถดาวน์โหลดคู่มือ Green-watching ของวีโร่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่

vero-asean.com/greenwatching-a-playbook-for-authentic-sustainability-communication-in-southeast-asia/ 

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ green-watching@vero-asean.com

เกี่ยวกับ วีโร่

วีโร่ เป็นบริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการสื่อสารชั้นนำที่ได้รับรางวัลเอเจนซี่ด้านประชาสัมพันธ์แห่งปี โดยให้คำปรึกษาแก่แบรนด์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงองค์กรธุรกิจต่าง ๆ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วีโร่ ออกแบบและพัฒนากลยุทธ์ด้านการตลาดและการสื่อสารแบบครบวงจร ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศดิจิทัลทั่วทั้งภูมิภาคและตลาดประเทศต่าง ๆ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

วีโร่มีสำนักงานประจำอยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยยังคงมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในเมียนมา มีทีมงานกว่า 200 คน ที่เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ โซเชียลมีเดีย การตลาดดิจิทัล การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ การเจาะลึกเทรนด์ผู้บริโภคโดยใช้ดาต้า การจัดซื้อสื่อ และบริการด้านงานสร้างสรรค์ วีโร่ยังนำเสนอโซลูชันที่ครอบคลุมสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายแบรนด์สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความมุ่งมั่นส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานในเชิงบวกและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน ทำให้วีโร่ได้รับรางวัล Best Independent Agency ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกจาก PRvoke Media Awards ในปี 2565 นอกจากนี้ในปี 2566 วีโร่ยังติดอันดับพีอาร์เอเจนซี่ 250 อันดับแรกของโลกจากการจัดอันดับโดย PRovoke Media และเป็นเอเจนซี่อิสระที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดโผการจัดอันดับ

นอกจากนี้ แคมเปญและบริการของวีโร่ยังได้รับรางวัลจากหลายเวที ได้แก่ Gold Award จาก Marketing Interactive ประเภทแคมเปญ Best Health and Pharmaceutical, รางวัล Best Use of Digital (COVID-19) จาก PR Awards Asia , รางวัล SABER Awards ประเภท Best Influencer Programs Endorsements และรางวัล Travel & Lifestyle Award 2023 จาก PRCA เอเชียแปซิฟิก

วีโร่มีแนวทางที่โดดเด่นในการจัดหาสื่อ โดยการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญขององค์กรและสนับสนุนเรื่องราวของความก้าวหน้าในธุรกิจ ในปี 2564 วีโร่ได้คว้ารางวัลเอเจนซี่ด้านประชาสัมพันธ์แห่งปีจากงานประกาศรางวัล PRovoke ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วีโร่จัดทำรายงานการวิจัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค รวมถึงเทรนด์ดิจิทัล และผลกระทบทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ วีโร่ยังออกคู่มือสำหรับแบรนด์ ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ อาหารและสุขภาพ, การจัดการกับภัยข่าวปลอมจากการบิดเบือนข้อมูล และระบบนิเวศสื่อของวงการอีสปอร์ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้