รายงานใหม่จาก World Economic Forum ประเมินว่าผู้หญิงจะไม่เท่าเทียมกับผู้ชายไปอีก 131 ปี หรือจะเห็นความเท่าเทียมในปี 2154 ถึงจะดูเหมือนนาน แต่ก็ถือว่าก้าวหน้าอยู่ เพราะจำนวนดังกล่าวลดลงจากเดิมประเมินไว้ว่ากว่าจะเท่าเทียมต้องใช้เวลาถึง 136 ปี
World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำดัชนี Global Gender Gap Report 2023 เพื่อชี้วัดถึง ความเท่าเทียมทางเพศ โดยได้ทำผลสำรวจใน 146 ประเทศ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จทางการศึกษา สุขภาพ และการเสริมอำนาจทางการเมือง โดยนับตั้งแต่ที่ได้จัดทำรายงานดังกล่าวในปี 2006 พบว่า ความเท่าเทียมโดยรวมดีขึ้น 4.1%
โดยปีนี้ความเสมอภาคทางเพศทั่วโลกอยู่ที่ 68.6% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา ช่องว่างด้านความเท่าเทียมดีขึ้น 0.3% ซึ่งถือว่าใกล้กับระดับก่อนเกิด COVID-19 ระบาด แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเปลี่ยนแปลงโดยรวมนั้น ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดย Saadia Zahidi กรรมการผู้จัดการของ World Economic Forum อธิบายว่า ความเท่าเทียมทางเพศน่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่กลับมีการระบาดของ COVID-19 มาขัดขวาง ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อ ผู้หญิงและเด็ก ทั้งในด้านการศึกษา, แรงงาน และการเมือง
“ทุกวันนี้ บางส่วนของโลกกำลังฟื้นตัวบางส่วน ขณะที่บางส่วนกำลังประสบกับความเสื่อมโทรมเมื่อเกิดวิกฤตครั้งใหม่ ไม่เพียงแต่ผู้หญิงและเด็กหญิงหลายล้านคนที่สูญเสียการเข้าถึงและโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การพลิกผันเหล่านี้ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกด้วย” Zahidi ระบุ
จากการทำผลสำรวจดังกล่าว มีเพียง 9 ประเทศที่ได้คะแนนด้านความเสมอภาคทางเพศเกิน 80% โดย Top 5 ของโลก ได้แก่
- ไอซ์แลนด์
- นอร์เวย์
- ฟินแลนด์
- นิวซีแลนด์
- สวีเดน
สำหรับในอาเซียนมีเพียงประเทศเดียวที่ติด 1 ใน 20 อันดับแรก คือ ฟิลิปปินส์ โดยอยู่ที่ อันดับ 16 ขยับขึ้นมา 3 อันดับ ส่วนประเทศ ไทย อยู่อันดับที่ 74 ขยับขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 79 ส่วนประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา อยู่อันดับที่ 43