TCMA ร่วมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเป็นต้นแบบการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) จับมือ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ประกอบกิจการชั้นนำภาคอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมลงนามความร่วมมือและแสดงเจตนารมณ์ “การเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor)” พร้อมชู ‘วิธีการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์’ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) เป็นต้นแบบการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG ควบคู่ลดก๊าซเรือนกระจก สร้างการค้าการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน (วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ ห้องเคนซิงตัน บอลรูม ชั้น 5 โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ)

ดร.ซนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด และปริมาณของเสียที่ลดลงหรือเหลือทิ้งน้อยที่สุด สามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตที่สูงขึ้น พร้อมทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากร ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator)ต้องบริหารจัดการของเสีย ณ ต้นทาง ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) เพื่อใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างคุ้มค่า ก่อนนำส่งไปกำจัดณ ปลายทางโดยผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Waste Processor) ต้องมีมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor) คำนึงถึงการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สอดคล้องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์พร้อมนำจุดแข็งของอุตสาหกรรมมาช่วยกันดำเนินการจัดการของเสียและร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ‘การเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์’ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) เป็นการนำของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาเผากำจัดในเตาเผาปูนซีเมนต์ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส จึงเป็นอีกวิธีการกำจัดของเสียแบบยั่งยืน ที่มีความปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีส่วนช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลดมลพิษ ลดความต้องการพื้นที่ฝังกลบ (Zero Landfill) และท้ายสุดช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (Zero Emission Concept) ตัวอย่างเช่น

  • ภาคการเกษตร: ช่วยลดการเกิด PM 2.5 และ PM 10 จากการเผาในที่โล่ง โดยการนำฟางข้าวและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน
  • ภาคอุตสาหกรรม: ช่วยลดการใช้ทรัพยากร/ ลดมลพิษและพื้นที่ฝังกลบ/ ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือกากอุตสาหกรรมมาเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงหลัก
  • ภาคชุมชน: ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) มาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงหลัก หรือลดมลพิษและพื้นที่ฝังกลบ โดยการกำจัดขยะชุมชน

“ความร่วมมือและแสดงเจตนารมณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และความร่วมมือดำเนินการอย่างเข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย การสนับสนุนด้านนโยบายและการประสานร่วมกันลงมือดำเนินการ ทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบ สิทธิประโยชน์ การบังคับให้ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ มีกำหนดไว้ประสิทธิภาพ จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือในวันนี้เกิดเป็นผลสำเร็จ และขยายผลต่อไปได้โดยเร็ว

TCMA ยินดีส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตปูนซีเมนต์ช่วยกันส่งเสริมสังคม Circular Economyด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Waste Processor) และคู่ค้าธุรกิจ ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน และส่งเสริมให้ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) เลือกใช้บริการผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐานฯ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนรวมทั้งพร้อมบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วนในการนำจุดแข็งของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มาสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) การจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ด้วยวิธีการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 6.9 ล้านตัน-คาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2573” ดร. ชนะ กล่าวย้ำ