ครั้งแรก! กับการรวมพลัง 7 พันธมิตร เปิดตัว PRO-Thailand Network ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนภายใต้หลักการ EPR ด้วยความสมัครใจ มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

บริษัทพันธมิตรชั้นนำในประเทศไทย ประกาศเปิดตัว “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” (Packaging Recovery OrganizationThailand Network) หรือ “PRO-Thailand Network” อย่างเป็นทางการ มุ่งมั่นขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility [“EPR”]) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

ทั้งนี้ สมาชิกของ “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” หรือ PRO-Thailand Network ประกอบด้วย เจ้าของตราสินค้า ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 7 บริษัท ได้แก่ บริษัทโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัดบริษัทไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัทเอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด ซึ่งต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนในระดับโลกรวมถึงตระหนักร่วมกันถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน ซึ่งไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี และกลายเป็นขยะในประเทศไทย ดังนั้นจึงตัดสินใจมารวมตัวกันโดยสมัครใจตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการ EPR เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานมุ่งเน้นการจัดการตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทางคือการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงปลายทางคือการเก็บกลับ การรีไซเคิล หรือการแปรสภาพบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy)ในประเทศไทย ในเบื้องต้น PRO-Thailand Network ได้เริ่มต้นทดลองโมเดลการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภทคือ ขวดพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) กล่องเครื่องดื่ม (อาทิ กล่องนม น้ำผลไม้ กล่องน้ำกะทิ) และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (อาทิ ซองขนม กาแฟ) ภายใต้การทำงานกับมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือมูลนิธิ 3R

คณะผู้บริหารของ PRO-Thailand Network กล่าวว่า “แนวทางการดำเนินงานของ PRO-Thailand Network คือส่งเสริมการเก็บกลับและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน เพื่อนำกลับมารีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ คือ1. การสร้างความร่วมมือ ด้วยการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว และการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในระบบการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพในการลดขยะบรรจุภัณฑ์และเพิ่มการรีไซเคิลสู่การนำกลับมาใช้ใหม่ 2. การอำนวยความสะดวก ด้วยการพัฒนาปรับปรุงระบบการรีไซเคิลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า องค์กร Non-Governmental Organization (NGO) องค์กรธุรกิจและการค้า สื่อมวลชน ประชาชน และหน่วยงานรัฐบาล และ 3. การสร้างโมเดลต้นแบบ ด้วยโครงการนำร่องที่มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเก็บกลับ การรีไซเคิล และ/หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก่อนจะขยายผลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในระดับประเทศ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริม“ทุกวันนี้ กรมควบคุมมลพิษต้องการขับเคลื่อนให้การจัดการขยะของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดการเกิดขยะที่แหล่งกำเนิด การเพิ่มศักยภาพในการจัดการขยะเพื่อหมุนเวียนทรัพยากรตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน การทำงานของ PRO-Thailand Network จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการเกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์กลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ก็มีให้เห็นในหลายประเทศทั่วโลก และในส่วนของกรมควบคุมมลพิษเห็นว่าการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไม่สามารถลงมือทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากแรงสนับสนุนด้านกฎหมายจากภาครัฐ ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการจัดทำกฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของประเทศไทย ภายใต้หลักการ EPR ซึ่งจะกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยอย่างแท้จริง และ PRO-Thailand Network ก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันมาโดยตลอด”

นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน PRO-Thailand Network ดำเนินโครงการนำร่อง ผ่านมูลนิธิ 3R เพื่อเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนา PRO Model ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานมูลนิธิ 3R อธิบายเพิ่มเติมว่า“มูลนิธิ 3R ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจหลักในการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด 3R (Reduce-Reuse-Recycle) มาอย่างยาวนานเราตระหนักถึงความสำคัญของการนำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การผลิต นำเข้า จำหน่าย การบริโภค และการจัดการหลังการบริโภค โดยให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และในวันนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ PRO-Thailand Network ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ภายใต้ความร่วมมือกับ มูลนิธิ 3R เพื่อส่งเสริมการทำงานของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของภาครัฐ และช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม”

“การเปิดตัววันนี้นับเป็นก้าวสำคัญซึ่งเราทั้ง 7 บริษัทเชื่อมั่นว่า การขยายความร่วมมือในการรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วไปยังบริษัทผู้เป็นเจ้าของตราสินค้า ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ตลอดจนกลุ่มผู้บริโภคที่เราอยากเชิญชวนให้มีการแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ออกจากขยะเศษอาหาร จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริบทใหม่ของการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ PRO-Thailand Network สามารถติดต่อผ่านFacebook: PRO-Thailand Network https://web.facebook. com/ prothailandnetwork” คณะผู้บริหาร PRO-Thailand Network กล่าวทิ้งท้าย