เอ-เมส มัลติสโตร์ โดย บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) จัดงานแสดงนิทรรศการผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม “A’MAZE Green Society Showcase” โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง ลฤก, เดอะแพคเกจจิ้ง, มอร์ลูป (moreloop) และมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ด้วยการนำผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมมาสร้างสรรค์และต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามวิสัยทัศน์ ESG (Environment, Social, Governance) ขององค์กรและภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน (Green Industry)
นางประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน ESG เป็นเรื่องที่องค์กรทั่วโลกตระหนักโดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากจากการดำเนินธุรกิจ บูติคนิวซิตี้ในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากว่า 30 ปี ก็ให้ความสำคัญกับ ESG และนำมาเป็นวิสัยทัศน์องค์กร จากที่แฟชั่นเคยถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิต อาทิ การฟอก การย้อมสี รวมทั้งการตัดเย็บและเหลือผ้าส่วนเกิน แต่ปัจจุบันแฟชั่นไม่จำเป็นต้องเป็นขยะอีกต่อไป เราได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการใช้ทรัพยากรประเภทวัสดุบริสุทธิ์หรือ Virgin material และค้นพบแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือ อาศัยนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดผ้าส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการตัดเย็บ โดยเริ่มต้นจากกระบวนการสร้างแพทเทิร์นที่จะถูกคำนวนมาอย่างดีเพื่อให้สามารถใช้ผ้าได้อย่างคุ้มค่าและเหลือผ้าส่วนเกินให้น้อยที่สุด พร้อมเรียนรู้และหาแนวทางในการนำผ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในปี 2565 บมจ.บูติคนิวซิตี้ ใช้ผ้าในการตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งสิ้น 78,450.66 กิโลกรัม หรือราว 78.45 ตัน โดยผ้า 80% ถูกนำไปตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย และจะมีผ้าส่วนเกินคิดเป็น 20 % ของผ้าที่ใช้ทั้งหมด หรือ 15,690.13 กิโลกรัม หรือประมาณ 15.69 ตัน
บมจ.บูติคนิวซิตี้จึงได้ริเริ่มโครงการ “A’MAZE Green Society” (เอ-เมส กรีน โซไซตี้) ขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ ESG ขององค์กรและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “ลฤก” แบรนด์พวงหรีดเสื่อ ในการนำผ้าส่วนเกิน 15% มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ผ้าเป็นการอัพไซเคิล(Upcycle) ให้ผ้าส่วนเกินกลับมามีมูลค่า โดยดอกไม้ผ้าจะถูกนำไปใช้ประดับตกแต่งพวงหรีดเสื่อให้เกิดความสวยงาม พร้อมสร้างคุณค่าทางจิตใจเกิดเป็นโครงการภายใต้ชื่อ“ระลึกรักษ์” ส่วนผ้าส่วนเกินอีก 5% เราร่วมกับเดอะแพคเกจจิ้ง ส่งผ้าส่วนเกินประเภท โพลีเอสเตอร์ไปทดลองในห้องวิจัยและพบว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิล (Recycle) จะกลายเป็นเม็ดพลาสติก และสามารถนำมาทอเป็นแผ่นและนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋ารักษ์โลก Mimi ซึ่งมีความสวยงาม แข็งแรง ทนทาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยจำหน่ายไปแล้วกว่า 100,000 ใบ นอกจากนี้เรายังได้พันธมิตรคู่คิดอีก 2 รายคือ moreloop (มอร์ลูป) ที่ร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าคอลเลคชั่นพิเศษ ภายใต้ชื่อ Mimi X moreloop เสื้อผ้าแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยการนำผ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ของมอร์ลูปมาออกแบบและเพิ่มลูกเล่นด้วยคาเรคเตอร์ตัวการ์ตูน Mimi ลงบนเนื้อผ้า ทำให้ได้เสื้อผ้าแนวสตรีทที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Organic Indigo ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการย้อมคราม นำเสื้อผ้าขาวที่ส่งกลับจากร้านค้าในแต่ละสาขา อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากการลองชุด อาทิ คราบแป้ง เปื้อนลิปสติก ไปผ่านกระบวนการซักทำความสะอาด ออกแบบและทำสีขึ้นมาใหม่ด้วยการมัดย้อมด้วยครามธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อคืนชีวิตให้เสื้อผ้าสีขาวกลับมามีความสดใส สามารถนำกลับมาสวมใส่ได้อีกครั้ง โดยการย้อมครามยังเป็นวิธีการย้อมผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำที่ใช้ในการย้อมครามมีวิธีการบำบัดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจากการดำเนินโครงการA’MAZE Green Society ทำให้ในปีที่ผ่านมา ผ้าส่วนเกินของเราไม่เป็นขยะอีกต่อไปและสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 125,521 กิโลกรัมคาร์บอน
นางสาวธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง มอร์ลูป (moreloop) กล่าวว่า moreloop เป็นแพลตฟอร์มผ้าออนไลน์ ที่รวบรวมฐานข้อมูลของผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาไว้ในที่เดียวกัน พร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างโรงงานผ้ากับกลุ่มคนที่ต้องการใช้ผ้าคุณภาพดี ในปริมาณที่ไม่มาก อาทิ นักออกแบบรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ นักเรียน นักศึกษา ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรผ้าคงค้างและนำมาใช้แทนการผลิตผ้าใหม่ ซึ่งการดำเนินธุรกิจของ moreloop ยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการนำผ้าส่วนเกินหรือ dead stock เหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าของ more loop ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากไม่มีการผลิตผ้าใหม่ และการนำผ้าส่วนเกินมาใช้ เท่ากับเป็นการลดขยะที่จะต้องนำไปเผาทำลายหรือฝังกลบ เมื่อผ้าหมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพ สำหรับความร่วมมือกับเอ-เมส ในการสร้างสรรค์ Mimi sustainability collection เราเลือกผ้าที่มีความเหมาะสมที่มีอยู่ในระบบ จากนั้นดีไซน์เสื้อผ้าออกมาในแนว street wear เพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบแฟชั่นที่แตกต่างมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งแต่ละคอลเลคชั่นจะมีแบบและสีไม่เหมือนกัน ซึ่งเกิดจากจำนวนผ้าส่วนเกินที่มี ทำให้ได้เสื้อผ้าที่เรียกได้ว่าเป็น limited edition
ผศ.ดร. ธนกร ราชพิลา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร กล่าวว่า จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นครามและต้นฝ้ายเป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านจะนำปุยฝ้ายมาทำเป็นเส้นใยมัดหมี่เพื่อสร้างลวดลาย จากนั้นนำไปย้อมคราม ทอเป็นผืนผ้าและนำมาตัดเย็บเพื่อสวมใส่กันเอง มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคราม” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมฐานข้อมูล การวิจัยและพัฒนา บริการวิชาการ เกี่ยวกับการย้อมคราม เริ่มตั้งแต่ การเพาะปลูก พัฒนาพันธุ์คราม พัฒนาลวดลาย กระบวนการย้อม การทอ รวมไปถึง การพัฒนารูปแบบผ้าย้อมครามสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อต้องการสืบสานภูมิปัญญาการย้อมครามไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ด้านความร่วมมือกับเอ-เมส ในการนำเสื้อผ้าสีขาวที่ค้างอยู่สต๊อคซึ่งยังไม่ผ่านการใช้งานเนื่องจากเกิดร่องรอยและคราบต่างๆ บนตัวเสื้อ ทำให้ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ มาผ่านกระบวนการมัดย้อมด้วยครามธรรมชาติ จากฝีมือชาวบ้านชุมชนบ้านธาตุนาเวง ทำให้ได้เสื้อย้อมครามที่มีลวดลายสวยงาม แปลกตา ไม่ซ้ำใคร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนย้อมครามบ้านธาตุนาเวงให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง
นางประวรา เอครพานิช กล่าวเสริมว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ ESG และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการ A’MAZE Green Society จะเป็นโครงการสำคัญในการเดินหน้าผลักดันในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การเลือกหาวัตถุดิบ ตลอดจนขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่า ทรัพยากรทุกอย่างจะถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า รวมถึงสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง พร้อมกันนี้ เรายังทำ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) ติดลงบนผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าคอลเลคชั่น Mimi x moreloop เพื่อแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าวัฏจักรของเสื้อผ้าตัวนั้นสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งลูกค้าก็จะได้มีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อีกด้วย”
“นอกจากการร่วมมือกับพันธมิตรคู่คิดต่างๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติแล้ว ในส่วนของธุรกิจรับผลิตและออกแบบเครื่องแบบองค์กรหรือยูนิฟอร์มของบูติคนิวซิตี้ก็อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ ESG และเแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันองค์กรต่างๆ ก็ให้ความสำคัญกับยูนิฟอร์มที่ผลิตจากผ้าและวัสดุรีไซเคิล เรามีพันธมิตรคู่ค้าที่ส่งมอบวัตถุดิบในการผลิตยูนิฟอร์มที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม อาทิ กระดุมที่ทำจากกะลามะพร้าวและขวด Pet และผ้าคูลโหมด (Cool Mode) ที่เป็นผ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ใส่ ระบายความร้อนความชื้นได้ดี ทนเหงื่อ ทนทานต่อการซักและความร้อนจึงคงสภาพใหม่ได้ยาวนาน และที่สำคัญเป็นผ้าที่ผ่านการทดสอบความเรียบตามเกณฑ์เบอร์ 5 จึงซักแล้วใส่ได้เลยไม่ต้องรีดจึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย เรายินดีและพร้อมเปิดรับความร่วมมือจากพันธมิตรคู่คิดและคู่ค้ารายอื่นๆ ที่จะมาเป็นผู้ร่วมวิสัยทัศน์เดียวกันในการใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะหาวัตถุดิบรีไซเคิลและเข้าสู่ขบวนการผลิตยูนิฟอร์มรักษ์โลกไปด้วยกัน” นางประวรา กล่าวในตอนท้าย
สำหรับนิทรรศการผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม “A’MAZE Green Society Showcase” จัดขึ้นในบริเวณบูธของบมจ.บูติคนิวซิตี้ ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ บริเวณฮอลล์ 99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา