มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ บี.กริม และภาคีเครือข่าย จัดพิธีรับตราพระราชทานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ปีการศึกษา 2565 เดินหน้าสร้างระบบการเรียนรู้ ปลุกศักยภาพเด็กตั้งแต่ปฐมวัย มุ่งสู่การพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โดย รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย (The Little Scientists’ House Thailand) เป็นประธานในพิธีรับตราพระ ราชทาน โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประจำปีการศึกษา 2565 พร้อมแสดงความยินดีกับ เครือข่าย และโรงเรียนจำนวน 12,654 โรงเรียนทั่วประเทศที่ผ่านการประเมิน เพื่อขอรับตราพระราช ทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีการ ศึกษา 2565 โดยพิธีดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 23 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องแสงเดือน แสงเทียน ชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ปัจจุบันโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 12 โดยในปีการศึกษา 2565 มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 29,144  โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 239 แห่ง โดยมีครูผู้สอนในระดับปฐมวัยในระบบกว่า 50,000 คน ซึ่งแต่ละปีโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศจะส่ง เรื่องขอประเมินเพื่อรับตราพระราชทานจากสมเด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการประเมินรอบที่ 1 คือการรับตราครั้งแรก (อายุตรา 3 ปี) การประ เมินรอบที่ 2 คือ การรับตราคงสภาพ ครั้งที่ 1 (อายุตรา 3 ปี) และการประเมินรอบที่ 3 คือรับตราคงสภาพ ครั้งที่ 2 (อายุตรา 5 ปี)

คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา เลขานุการและกรรมการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย กล่าวว่า จุดเด่นของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย คือการใช้การเรียนรู้แบบ STEM ศึกษา นั่นคือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยมุ่งการสร้างคนตั้งแต่ปฐมวัย ปลูกฝังแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” หรือ Education for Sustainable Development (ESD) ด้วยการฝึกให้เด็กๆ คิดถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว ชุมชน ทั้งนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย สำหรับเด็กปฐมวัยในการเรียนรู้แบบ STEM หรือ ESD แต่โครงการฯ สามารถทำได้โดยกระตุ้นและพัฒนา ศักยภาพของครูอนุบาลทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ด้วยกระบวนการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง

“การดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้นำโนฮาวจาก Haus der kleinen Forscher ประเทศเยอรมนี มาบูรณาการกับ Think Tank ด้าน STEM และหลักสูตรการศึกษาเด็กปฐมวัยของไทย นำทีมโดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพ และอีก 7 ภาคี ประกอบด้วย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), บี.กริม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ซึ่งทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีโนฮาวในการจัดการเรียนรู้แบบ STEM ให้กับเด็กๆ โดยใช้หัวข้อที่อยู่รอบตัวและชุมชน อาทิ เรื่องน้ำ อากาศ คณิตศาสตร์ ฯลฯ มุ่งให้เด็กมีประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งต่างๆ รอบตัว ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง” คุณคิม กล่าว

โดยปีนี้โครงการฯ มุ่งเน้นไปที่เรื่อง ESD เพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) นอกจากนี้ ยังถือเป็นปีแรกที่มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาผ่านการประเมินเพื่อขอรับตราพระราชทานฯ อีกด้วย

โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ริเริ่มเมื่อปี 2552 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรม Haus der kleinen Forscher (บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย) ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับ เด็กอนุบาล ต่อมาในปี 2553 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยา ศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บี.กริม นำรูปแบบบ้านนักวิทยาศาสต์น้อยของเยอรมนีไปดำเนินการนำร่องในโรงเรียนไทย ด้วยทรงเห็นความสำคัญของการ ปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ และทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องให้แก่เด็กตั้งแต่ปฐมวัย มุ่งพัฒนาการเรียนวิทยา ศาสตร์อย่างสนุกสนาน ผลักดันให้เด็กๆ รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และช่างสังเกต อันเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ภายหลังมี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เข้ามารวมเป็น 7 ภาคีผนึกกำลังดำเนินโครงการนี้ร่วมกัน

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และ 7 ภาคี จัดให้มีกิจกรรมอบรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. อบรมครูปฐมวัยและประถมศึกษาด้าน STEM ในหัวข้อรอบตัว เช่น น้ำ อากาศ แม่เหล็ก ESD ฯลฯ  2. จัดทำสื่อการเรียนการสอนสำหรับครู 3. จัดทำรายการโทรทัศน์ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” และ 4. จัดเทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย