บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน Huawei Thailand Education Summit 2023 ครั้งแรกของประเทศไทย ภายใต้ธีม Accelerate the Digital Journey of Education ณ จังหวัดขอนแก่น นำเสนอเทรนด์และเทคโนโลยีล่าสุด สำหรับภาคการศึกษา เพื่อหวังเป็นแนวทางในการยกระดับความพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หน้าที่หลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือ การพัฒนากำลังคน และการสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของประเทศไทย การที่เราจะพัฒนาประเทศไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้นั้น การพัฒนากำลังคนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกำลังคนด้านดิจิทัล เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานของการพัฒนของทุกอุตสาหกรรม
“ในปีที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ร่วมกับ หัวเว่ย ประเทศไทยจัดทำสมุดปกขาวสำหรับการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยผลการศึกษาได้ระบุว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลถึงกว่า 500,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะด้าน 5G, IoT, และคลาวด์ ในระดับ ในระดับ 4 (ระดับสูง)
วันนี้ ผมขอร่วมแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและหัวเว่ย ประเทศไทยในการจัดตั้ง Huawei ICT Academy Support Center ขึ้น ซึ่งตรงกับสิ่งที่กระทรวงเล็งเห็นว่าการสร้างกำลังคนจะต้องเป็นแบบ co-creation ระหว่างผู้ผลิตบัณฑิต และฝั่งอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดสังคมที่พร้อมสนับสนุนบัณฑิตทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน”
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นขณะนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล ซึ่งมหาวิทยาลัยฯได้เริ่มวางเป้าหมายในการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็น Smart Campus และ Smart University ที่ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงในเชิงวิชาการเท่านั้น แต่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์รวม ทั้งคน ทั้งแนวคิดและเทคโนโลยีที่เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งสิ่งที่ตอบโจทย์คือ Digital Technology ที่จะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็น Paperless หรือ Digitalization
“ผมต้องขอขอบคุณที่มีงานในลักษณะนี้ที่นี่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่เราจะได้เห็นเทรนด์เทคโนโลยี สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และศักยภาพของบริษัทไอทีที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมระดับโลกนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาให้เราสัมผัสกัน และจุดประกายไอเดียต่างๆในการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงาน”
นายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ภาคการศึกษาเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของหัวเว่ยในประเทศไทย ซึ่งนอกจากการเลือกสรรเทคโนโลยีและโซลูชันที่เหมาะสมกับโจทย์ความต้องการแล้ว หัวเว่ยยังมองถึงการส่งเสริมและพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งอีโค่ซิสเต็มส์เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีเพื่อการยกระดับการเรียนการสอนของประเทศ
“เทคโนโลยีที่ดีที่สุดนั้นอาจไม่ใช่สิ่งใช่ที่สุดสำหรับทุกคนเสมอไป ดังนั้นการเลือกสิ่งที่ตรงกับความต้องการจริง และสามารถตอบสนองต่อภารกิจและเป้าหมายของหน่วยงานคือ น่าจะตอบโจทย์ความต้องการได้ดีกว่า ซึ่งในฐานะผู้นำไอซีทีชั้นนำ หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์เพื่อนําเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ เอไอ คลาวด์คอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีอื่นๆ มาประยุกต์ใช้กับการศึกษา ตลอดจนถึงการบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถด้านนวัตกรรม เร่งสร้างนวัตกรรมในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม”
ในครั้งนี้ หัวเว่ยยังนำเทคโนโลยีพร้อมด้วยโซลูชันและนวัตกรรมด้านการศึกษา มาจัดแสดงให้คณะผู้บริหารสถาบันการศึกษา คณาจารย์และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องได้เยี่ยมชมเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Virtual Reality in 5G Classroom, Intelligent Research Center, Next Generation of Campus Network, Wi-Fi 7, AI Camera ตลอดจนตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันและหน่วยงานต่างๆในการเตรียมพร้อมสำหรับหน่วยงานของตนเอง
พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรด้านไอซีที นำเทคโนโลยีเพื่อการศึกษายุคใหม่ที่น่าสนใจร่วมจัดแสดงภายในงาน WUNCA 43 การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 43 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในระหว่างวันที่ 10-13 กรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย
ในงานเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้ลงนามความร่วมมือจัดตั้งโครงการ Huawei Academy support Center ซึ่งจะเป็นตัวแทนของหัวเว่ยในการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือและส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านไอซีที พร้อมเป็นผู้สนับสนุนที่จะส่งผ่านองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิเช่น การจัดอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีต่างๆให้กับอาจารย์และนักเรียน นักศึกษา
รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้นักศึกษาพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันร่วมกันพัฒนากำลังคนที่พร้อมด้วยทักษะด้านเทคโนโลยีในเขตภาคอีสาน เข้าสู่ตลาดแรงงานด้านอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/talent/ict-academy/#/home, Facebook.com/HuaweiICTAcademyTH หรือติดต่อ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทรศัพท์ 043-009700 ต่อ 50525