แม้ว่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยและทั่วโลกจะหดตัวลงติดต่อกันเป็นเวลา 6 ไตรมาสติด นับตั้งแต่ปี 2022 ทำให้แบรนด์ใหญ่ ๆ ที่แข็งแรงต่างเบนเข็มไปจับเซ็กเมนต์พรีเมียมแทน อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์ที่เหนื่อยก็คงเป็นแบรนด์ย่อยที่ทำตลาดในเซ็กเมนต์กลุ่มเริ่มต้น (Entry-level) ที่มีราคาไม่สูงมาก ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่หดตัวมากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น Wiko หนึ่งในแบรนด์ที่เน้นจับตลาด Entry ก็ยังไม่ยอมแพ้
แบรนด์ฝรั่งเศสที่เป็นของจีนไปแล้ว
เชื่อว่าใครหลายคนน่าจะคุ้นหูคุ้นตากับแบรนด์ Wiko (วีโก) แบรนด์สมาร์ทโฟนจากฝรั่งเศสกันมาบ้าง เพราะอยู่ในไทยมานานตั้งแต่ปี 2014 และในช่วงปี 2017 แบรนด์เคยดึง คิมเบอร์ลี แอน เทียมศิริ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกด้วย โดยจุดเริ่มต้นของ Wiko นั้นถือกำเนิดในปี 2011 ณ กรุงมาร์กเซย์ ประเทศฝรั่งเศส โดยนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสนาม Lau rent Dahan แต่ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัท Tinno Mobile จากประเทศจีน
ปัจจุบันแบรนด์ Wiko นั้นถือว่าแข็งแรงในฝั่งยุโรปพอสมควร โดยสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ในฝรั่งเศส และอันดับ 4 ในยุโรปตะวันตก ปัจจุบัน Wiko มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน
สำหรับ Wiko นั้นจะเน้นจับตลาด Entry ราคาตั้งแต่ 2,000-5,000 บาท แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แบรนด์ก็เงียบหายไปจากตลาดประเทศไทย เนื่องจากได้มีการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย โดยแบรนด์ได้เปลี่ยนผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายใหม่เป็น บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (VST ECS) ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอทีรายใหญ่เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในไทย
“ในภูมิภาคอาเซียน Wiko ทำตลาดใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยถือเป็นตลาดสำคัญที่สุด เพราะมียอดขายเป็นอันดับ 1 มีลูกค้ารวมกว่า 2.5 ล้านคน” หวัง เว่ย ผู้จัดการฝ่ายขาย วีโก กล่าว
ปูพรมร้านตู้กว่า 6,000 ร้าน
สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ในการจัดจำหน่ายของบริษัทจะเน้นไปที่ตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก เน้นจับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ บริษัทได้ทำสัญญาร่วมกับพันธมิตร 25 ราย เพื่อช่วยกระจายสินค้าไปร้านค้าที่เป็นลูกตู้กว่า 6,000 ร้าน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ
โดย สมศักดิ์ อธิบายว่า การมีพันธมิตรเป็นเครือข่ายลูกตู้นั้นสำคัญมาก เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าในกลุ่ม Entry นั้นเน้นการซื้อสินค้า ใกล้บ้าน ซึ่งในต่างจังหวัดก็คือร้านตู้ ขณะที่สมาร์ทโฟนในกลุ่ม Mid-Hight นั้นเน้นที่แบรนด์อิมเมจเป็นหลัก ส่วนของตลาดออนไลน์ บริษัทมีแผนที่จะวางจำหน่ายในอีมาร์เก็ตเพลสทั้ง Shopee และ Lazada แต่สินค้าที่ขายบนออนไลน์กับออฟไลน์จะต่างกัน
“เรามองว่าแบรนด์ Wiko มีชื่อเสียงที่ดีอยู่แล้ว นั่นทำให้เราทำตลาดได้ง่าย โดยเราเชื่อว่าชื่อแบรนด์จะช่วยให้เราเจาะกลุ่มวัยรุ่นตามต่างจังหวัดที่หาซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องแรกไว้สำหรับเล่นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ”
เตรียมเปิดแวร์เฮาส์กระจายทั่วประเทศ
ในส่วนของเซอร์วิส ลูกค้าสามารถใช้ร้านตู้เป็นจุดรับส่งเครื่องได้เลย โดยถ้าเครื่องมีปัญหาจากโรงงานตรงตามเงื่อนไขจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ทันที ส่วนลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีบริการรับส่งซ่อมเครื่องถึงหน้าบ้าน ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขยายแวร์เฮ้าส์ให้ครบทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งถือเป็นการปรับนโยบายเดิมที่มีแค่แวร์เฮ้าส์เดียวแล้วกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ โดยจะเริ่มเปิดช่วง Q4/2023 นี้
“ตอนนี้เราเห็นเทรนด์เปลี่ยนไป ลูกค้าต้องการของเร็วที่สุด ดังนั้น เพื่อให้บริการได้เร็วขึ้น เราต้องมีแวร์เฮ้าส์มากกว่า 1 พันธมิตรลูกตู้เราก็ไม่ต้องเก็บสต็อกเยอะ จังหวัดไหนขายได้เยอะเราจะไปตั้งที่นั่น”
ตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ 10% ใน 3 ปี
สำหรับสมาร์ทโฟน Wiko ที่จะจำหน่ายกับ VST ECS ในครั้งนี้ คือรุ่น T10 และในเร็ว ๆ นี้จะนำเข้า WIKO T20 และ WIKO T60 ซึ่งเป็นรุ่นที่สเปกสูง แต่ราคาจับต้องได้ โดยภายในสิ้นปีนี้ Wiko ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2% ขึ้นไป และเพิ่มเป็น 4% ภายในปี 2024 โดยภายใน 3 ปีต้องมีส่วนแบ่งการตลาดในไทยไม่น้อยกว่า 10%
“ตลาดสมาร์ทโฟนไทยไม่ได้แย่มาก แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้เติบโต ดังนั้น แปลว่าเราต้องไปแย่งส่วนแบ่งจากแบรนด์อื่น ซึ่งเรามั่นใจในแบรนด์ Wiko ที่แข็งแรงอยู่แล้ว บวกกับความแข็งแรงของเครือข่ายร้านลูกตู้ในต่างจังหวัด และเราวางงบ 2-3% ของรายได้สำหรับทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้น เรามั่นใจว่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้”