บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมดำเนินโครงการการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Higher Education for Industry: Hi-FI) ภายใต้โครงการเครือข่ายการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม กระเมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 ห้องประชุม 3 ชั้น 2 อาคารศิลปกรรมศาสตร์1 คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
โครงการการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Higher Education for Industry: Hi-FI) ภายใต้โครงการเครือข่ายการอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นการพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรม และการพัฒนาระบบการศึกษา ทั้งด้านทัศนคติการทำงาน และระบบที่ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะไปพร้อมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
คุณฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีวิสัยทัศน์และความเป็นเลิศในการสร้างสรรค์งานด้านศิลปกรรม โดยผสมผสานศิลปกรรมสาขาต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์งานนวัตกรรมแบบข้ามศาสตร์ที่ทันสมัย บนพื้นฐานความเป็นไทยก้าวไกลไปสู่นานาชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการใช้ผลงานศิลปกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้เปราะบางในสังคมไทย
ความร่วมมือระหว่างบี.กริม และ จุฬาฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนนิสิตคนรุ่นใหม่ให้ได้ฝึก ปฏิบัติงานในองค์กรที่มีงานสะสมที่ล้ำค่า เพื่อสร้างสรรค์และเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ด้วยคุณภาพที่เป็นสากล อันเป็นการวางรากฐานเครือข่ายอุตสาหกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนศาสตร์ภัณฑารักษ์ในประเทศไทยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อไป”
ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ทางหลักสูตรฯ จะร่วมกับ บี.กริม เพาเวอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ให้ความช่วยเหลือด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา ผ่านการเข้าไปให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาในองค์กร และทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนิสิต Hi-FI และนิสิต Hi-FI ให้สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัท และความเข้มแข็งด้านวิชาการผ่านการทำงาน การเรียนและการทำวิจัย ทั้งในมิติด้านกระบวนการ พัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ และในมิติแก้ไข พัฒนากระบวนการผลิต ตามที่บริษัทและมหาวิทยาลัย ร่วมกันกำหนดไว้
“เป้าหมายสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาและ ส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกในการสร้างนวัตกรรมสังคมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในภาคอุตสาหกรรมและประเทศชาติให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และการร่วมมือกับอุตสาหกรรมและงานด้านศิลปกรรมครั้งนี้ก็นับเป็นความร่วมมือแรกที่ไม่ใช่ด้านการผลิตของโครงการ HI-FI นี้” ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร กล่าว
บี.กริม ดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย เช่น พลังงาน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ดิจิทัล และไลฟ์สไตล์ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วยความโอบอ้อมอารีมาตลอดระยะเวลา 145 ปี และพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนการพัฒนาต่อยอด ริเริ่มสร้างสรรค์ นวัตกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและสังคมให้อยู่คู่สังคมไทยและสังคมโลก ตลอดจนการสร้างความศิวิไลซ์ให้มนุษยชาติ